กอนช. เร่งกักเก็บน้ำไหลเข้าเขื่อนจากฝนตกเพิ่มในช่วงนี้ พร้อมส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรทดแทนการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง
กอนช. เร่งกักเก็บน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มจากฝนตกในช่วงนี้ให้ได้มากที่สุด พร้อมสนับสนุนอาชีพทดแทนให้เกษตรกรในพื้นที่ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ให้พอในฤดูแล้งที่จะมาถึงท่ามกลางสภาวะเอลนีโญ
วันนี้ (6 ก.ย. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ขณะนี้ปริมาณฝนสะสมในภาพรวมทั่วประเทศถือว่าดีขึ้นในระดับหนึ่ง โดยพื้นที่ที่มีปริมาณฝนค่อนข้างมากคือพื้นที่ชายขอบของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ซึ่งจากการติดตามปริมาณฝนสะสมตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ส.ค. – 5 ก.ย. 66) พบว่ามีปริมาณฝนตกมาก โดยมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 711 มิลลิเมตร ใน อ.เขาสมิง จ.ตราด ซึ่ง กอนช. ได้มีการประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยในลักษณะของน้ำท่วมฉับพลัน รวม 17 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว 16 จังหวัด เหลือเพียง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ โดย กอนช. จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเป็นประจำทุกวันสำหรับเตรียมออกประกาศแจ้งเตือน เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนในทุกพื้นที่
“แม้ว่าจากปริมาณฝนตกที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ แต่ก็นับว่าส่งผลดีในเรื่องของการเติม
น้ำต้นทุนให้แก่แหล่งน้ำต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันภาพรวมฝนของประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติอยู่ 18% มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ 44,638 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 54% ของความจุ ซึ่งลดลงจากต้นฤดูฝน 1,547 ล้าน ลบ.ม. หรือลดลง 2% จากผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการช่วยเหลือการเพาะปลูกของเกษตรกรจนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยว โดยในจำนวนนี้เป็นน้ำใช้การเพียง 20,527 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% โดยมีอ่างฯ ใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยถึง 11 แห่ง โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ใหญ่ทั้งประเทศ สะสม 1,201 ล้าน ลบ.ม. และเนื่องจากปัจจุบันยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น จึงคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายขอบและตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงภาคกลางที่ปัจจุบันยังคงมีฝนน้อยมากด้วย และคาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ใหญ่
ในสัปดาห์หน้าเพิ่มอีก 3,205 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้มีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมอาชีพทดแทนในพื้นที่ควบคุมไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนอาชีพหัตถกรรม OTOP การพัฒนาศูนย์เรียนรู้
โคก หนอง นา การส่งเสริมอาชีพ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว การพักหนี้ การเพิ่มแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน การจ้างแรงงาน
การแจกภาชนะเก็บน้ำเพื่อกระจายความเสี่ยงในระดับครัวเรือน โดยจะมีการจัดทำเมนูอาชีพทางเลือกต่าง ๆ รวมทั้งแผนงาน โครงการ
และงบประมาณ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการเพาะปลูกเพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้เพียงพอสำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึง ซึ่งจะยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่อง