ธ.ก.ส.ยกทัพสื่อล่องใต้สุดแดนสยามจ.ยะลา เยี่ยมกระบวนการจัดการ”ทุเรียนสะเด็ดน้ำ”คุณภาพส่งออก

ธ.ก.ส.ยกทัพสื่อล่องใต้ชายแดนสุดสยามจ.ยะลาเยี่ยมชมกระบวนการจัดการผลไม้คุณภาพส่งออกบ้านบาตูปูเต๊ะอ.ธารโต ภายใต้ชื่อทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลาและมังคุดในสายหมอก พร้อมกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อครบวงจรบ้านบูเก๊ะจือฆา ผลผลิตจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยผู้บริหารธ.ก.ส. ประกอบด้วยนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธ.ก.ส.และนายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. นำทัพสื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิตลงพื้นที่ใต้สุดแดนสยามเพื่อเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นลูกค้าธ.ก.ส.ในหลายพื้นที่ในจ.ยะลาระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค.66 ที่ผ่านมา


โดยจุดแรกเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านบูเก๊ะจือฆา ต.เนินงาม อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเป็นกลุ่มเลี้ยงโคต้นน้ำ โดยกลุ่มดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 20 ราย มีนายอับดุลเลาะห์ บากา เป็นประธานกลุ่ม มีโคเนื้อกว่า 70 ตัว สายพันธุ์แองกัสและชาร์โลเล่ส์ ซึ่งเติบโตได้ดีและมีความเหมาะสมกับภูมิอากาศในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มต้นแบบทำเกษตรครบวงจร มีการวิจัยแปลงปลูกหญ้าสำหรับอาหารโค ทำธุรกิจเลี้ยงโคเนื้อแม่พันธุ์และโคขุนเพื่อจำหน่าย โดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฮมเบอเกอร์และเนื้อย่างในรูปแบบ food Truck ภายใต้ชื่อ CHABA Beef มีจำนวน 5 สาขาได้แก่ หาดใหญ่ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส
“เมื่อก่อนเคยเลี้ยงพันธุ์วากิว แต่ไปไม่รอดราคาแพงเกินไปเลยหันมาเลี้ยงแองกัสกับชาร์โลเล่ส์แทน และด้วยพื้นที่เลี้ยงที่เหมาะสมทำให้คุณภาพเนื้อดีมาก ๆ ”นายอับดุลเลาะห์ บากา ประธานกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านบูเก๊ะจือฆา เผยจุดเด่นเนื้อโค


จากนั้นผู้จัดการธ.ก.ส.และคณะได้เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ(ธารโต) ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและรวบรวมผลผลิตทุเรียน เพื่อจำหน่าย โดยมีการบริหารจัดการผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ ภายใต้ชื่อทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มีการดูแล ตั้งแต่การผลิต การดูแลรักษา การรวบรวม ไปจนถึงการจัดการทางการตลาดเพื่อการส่งออกจนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีตลาดหลักประเทศจีน
ปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายกว่า 20 กลุ่ม มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 400 ราย โดยการสนับสนุนของธ.ก.ส. ภายใต้โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยระยะที่2 และในโอกาสนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้มอบสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยให้กับกลุ่มฯ จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อต่อยอดและยกระดับธุรกิจ ทั้งการผลิต การควบคุมมาตรฐาน โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานต่อไป


นายทวีชาติ จุลละพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานธ.ก.ส.จังหวัดยะลากล่าวถึงวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ(ธารโต)ว่าเป็นกลุ่มพัฒนาทุเรียนคุณภาพส่งออกที่มีความเข้มแข็ง ภายใต้ชื่อทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา โดยทางธ.ก.ส.ได้เริ่มเข้าไปช่วยดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งองค์ความรู้ ช่วยพัฒนา รวมทั้งการสนับสนุนแหล่งทุนมาตั้งแต่ปี 2545 และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
“ปัญหาทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลาแรกริ่มต้องยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องหนอน ลูกไม่สวย เนื่องจากองค์ความรู้เกษตรกรยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการผลิตเราก็ได้นำองค์ความรู้ไปให้ว่าการดูแลทุเรียนจะต้องดูแลตั้งแต่เริ่มออกดอกจะต้องทำแบบไหนอย่างไรเพื่อป้องกันหนอน สองปัญหาตัดทุเรียนเร็วเกินไปก็จะส่งผลทุเรียนอ่อน เราก็ให้ความรู้คนตัดว่าระดับความแก่ต้องไม่ต่ำว่า75% จะได้ทุรียนคุณภถาพ สุดท้ายร่วมกับทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการของกระทรวงเกษตรฯให้เขาปฏิบัติตามจีเอพี 3 อย่างนี้คือปัญหาที่ผ่านมาเราร่วมกันแก้ไขจนประสบผลสำเร็จในวันนี้”
นายทวีชาติ เผยต่อว่าสำหรับผลผลผลิตทุเรียนยะลาในปีนี้คาดการณ์ว่าจะออกประมาณ 70,000 ตัน ซึ่งทางธ.ก.ส. โดยสกต.จะพยายามรวบรวมผลผลิตและดูแลให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงกลางฤดู ตลาดตอนนี้ยังเดินไปได้ แต่ต้องมีการปรับตัว ดูแลคุณภาพควบคู่กันไปด้วย มีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยสำนักงานธ.ก.ส.ยะลร่วมกับสกต.ส่งไปยังประเทศจีนโดยตรงผ่านบริษัทส่งออกและบางส่วนนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยบริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด
“จุดเด่นของทุเรียนยะลาคือทุเรียนสะเด็ดน้ำ หมายความว่าเมื่อสุกแล้วเนื้อทุเรียนจะแห้งสะเด็ดน้ำ หนึ่งในของดียะลาคือทุเรียนสะเด็ดน้ำและมังคุดในสายหมอก อร่อย คุณภาพเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้บริโภคครับ”ผู้อำนวยการสำนักงานธ.ก.ส.จังหวัดยะลากล่าวยืนยัน
จากนั้นนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธ.ก.ส.และคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมงานบริษัท เอ เอ รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตยางแท่งและยางคอมปาวด์ เพื่อส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย โดยนำไปแปรรูปและใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ยางล้อ, ยางที่ใช้ในห้องโดยสารรถยนต์ และยางที่ใช้เป็นอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งทางบริษัทฯ มีการรับซื้อยางจากเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่โดยให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด เพื่อเป็นการจูงใจเกษตรกร รักษาคุณภาพการผลิตที่เป็นมาตรฐาน และ ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในการผลิตมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนใช้ในโรงงาน เพื่อเป็นการลดขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้อีกด้วย
ปิดท้ายด้วยเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหล ในต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลาของโกหงิ่วหรือนายสันติชัย จงเกียรติขจร ซึ่งยึดอาชีพเลี้ยงปลาในบ่อดินมาตั้งปี 2540 แต่ได้ประสบปัญหาน้ำป่า ทำให้บ่อเลี้ยงได้รับความเสียหาย จึงหยุดเลี้ยงมา 2 ปี กระทั่งมีเจ้าหน้าที่ธ.ก.ส.สาขาเบตงเข้าไปให้คำแนะนำเลี้ยงปลานิล เนื่องจากโกหงิ่วเป็นลูกค้าธ.ก.ส.เดิมอยู่แล้ว จึงได้เริ่มทดลองเลี้ยงปลาอีกครั้งเริ่มต้นจาก 800 ตัว แต่เปลี่ยนระบบการเลี้ยงแบบน้ำไหล ทำให้ผลผลิตปลานิลได้น้ำหนักดี ตัวใหญ่เนื้อแน่น ไม่เหม็นโคลน ไม่เหม็นคาว ปัจจุบันภายในฟาร์มมีปลามากถึง 40,000 ตัว พร้อมมีร้านอาหารชื่อร้านปลานิลสายน้ำไหล เพื่อรองรับวัตถุดิบปลานิลจากฟาร์ม