ประเทศไทย ร่วมมือ CCAMLR ผลักดัน “ปลาหิมะ” ส่งออก 26 ประเทศ แจ้งผู้ประกอบการเตรียมตัวปฏิบัติตามเงื่อนไข สร้างความมั่นใจ ประเทศไทยปราศจาก IUU

      เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้กรมประมงเป็นผู้ลงนามในเอกสาร Letter of application for cooperating status เพื่อแสดงความจํานงการเข้าร่วมเป็นประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก แต่ให้ความร่วมมือ (Cooperating Non – Contracting Party : CNCP) ตามมาตรการอนุรักษ์ 10 – 05 (Conservation Measure 10 – 05) ของคณะกรรมาธิการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตทางทะเลของ มหาสมุทรแอนตาร์กติก (The Commission for the Conservation of Antarctic Marine Living Resources : CCAMLR) เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิให้จัดทำใบเอกสารการรับรองการจับสัตว์น้ำสำหรับปลาหิมะ และการบันทึกข้อมูลการนําเข้า – ส่งออกปลาหิมะ (Toothfish) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Catch Documentation Scheme: e-CDS) ของ CCAMLR เพื่อป้องกันยับยั้ง และขจัดการทำประมงปลาหิมะที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน โดยมีกรมประมงเป็นผู้รับผิดชอบในการบันทึกข้อมูลในระบบดังกล่าว
      นายถาวร ทันใจ โฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า เนื่องจากปลาหิมะ (Toothfish) เป็นปลาที่มีมูลค่าสูงและมีการควบคุมเชิงอนุรักษ์เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์โดยอนุสัญญา CCAMLR โดยสถิติการนำเข้าส่งออกปลาหิมะในปีที่ผ่านมาของประเทศไทย มีปริมาณการนําเข้าปลาหิมะจำนวน 289 ตัน คิดเป็นมูลค่า 327.97 ล้านบาท และมีการส่งออกจำนวน 2.67 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.91 ล้านบาท ซึ่งการแสดงความจำนงดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกปลาหิมะไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกอนุสัญญา CCAMLR จำนวน 26 ประเทศ ได้แก่ อาเจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม บราซิล ชิลี จีน เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส เยอรมัน อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นามิเบีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ รัสเซีย แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน ยูเครน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย รวมถึงสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ประเทศในข้างต้นจะไม่รับซื้อปลาหิมะจากประเทศที่ยังไม่ได้นําระบบบันทึกข้อมูลการจับสัตว์น้ำขององค์กร CCAMLR ไปถือปฏิบัติ
      โฆษกกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีมูลค่าการซื้อขายปลาหิมะอยู่ที่ 20,872 ล้านบาท โดยผู้นำเข้าหลักคือ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และสเปน กรมประมงจึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการนําเข้าและส่งออกปลาหิมะ ได้เตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงที่กรมประมงได้ทำร่วมกับองค์กร CCAMLR เพื่อให้การส่งออกสินค้าปลาหิมะเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในด้านมาตรฐานการผลิตที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีระบบการควบคุมตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำเข้าที่มั่นใจได้ว่าสัตว์น้ำไม่ได้มาจากการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) สอดคล้องตามมาตรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของ CCAMLR