สภานโยบายฯ เห็นชอบร่างระเบียบร่วมทุน นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พร้อมมอบกระทรวงการคลัง และ อว. ขับเคลื่อนนโยบายเชื่อมโยงการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) จัดการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก       เหล่าธรรมทัศน์) รองประธานคนที่สอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวง หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสภานโยบายฯ ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยผลการประชุมว่า สนอว. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. …. โดยส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยจัดตั้งธุรกิจนวัตกรรม (Spin-off) ลงทุนในผู้ประกอบการรายใหม่เพื่อให้นำผลงานวิจัยไปขยายผลและออกสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ให้การวิจัยสามารถ “ขึ้นห้าง” อีกทั้งยังสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยกล้าลงทุน ลดความเสี่ยงในการลงทุน ทำให้งบประมาณของรัฐที่ลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้จริง ช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย (IDE/Startup/Smart SME) เพิ่มรายได้และโอกาสจากการนำผลงานวิจัยไปเป็นฐานในการผลิตและบริการ รวมถึงประเทศยังได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปของภาษีเงินได้บุคคลและนิติบุคคลด้วย โดยจะเข้าสู่การนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

มอบหมายกระทรวงการคลัง และ อว. ขับเคลื่อนนโยบายเชื่อมโยงการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กรรมการและเลขานุการสภานโยบายฯ เปิดเผยว่าที่ประชุมสภานโยบายฯ ได้เห็นชอบในหลักการนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศอันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ (Offset) โดยได้มอบหมายกระทรวงการคลังและกระทรวง อว. ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเชื่อมโยงการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และมอบหมายให้กรมบัญชีกลาง สอวช. และ สกสว. ร่วมกันจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่จากต่างประเทศของภาครัฐนี้จะเป็นประโยชน์และเป็นโอกาสในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศ โดยอาศัยโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เป็นการซื้อจากต่างประเทศรวมถึงซื้อผ่านตัวแทนในประเทศให้มีการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี นำมาสู่การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายโอนเทคโนโลยี ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายสำคัญของประเทศ