สธ. ติดตามความก้าวหน้างานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย พบกว่า 175 เรื่อง
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษาวิจัยผลจากการใช้กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกันเพื่อติดตามความก้าวหน้าการศึกษาวิจัยกัญชา วานนี้ มีประเด็นที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ สถานการณ์การวิจัย ผลการศึกษาผลกระทบต่อสังคม สุขภาพและเศรษฐกิจ และเกณฑ์มาตรฐานวัตถุดิบกัญชาเพื่อการส่งออก โดยภาพรวมข้อมูล ณ ปัจจุบัน มีงานวิจัยกว่า 175 เรื่อง ซึ่งมีทั้งดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ในระหว่างดำเนินการ และอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงร่างงานวิจัย
ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า สถานการณ์การวิจัยขณะนี้ พบว่ามีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ โดยกำหนดให้มีการศึกษาวิจัยและจัดการความรู้ ในส่วนกลางก็ทำให้เห็นแนวโน้มที่เด่นชัดในการนำมาวางแผนวิจัยในกลุ่มโรคที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ ผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยในกลุ่มโรคหายาก เช่น ลมชักรักษายากในเด็ก ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โดยการศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์เกรดยาตัวแรกของประเทศไทยในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย การศึกษาเชิงทดลองพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 50 ที่มีระดับความปวดปานกลางถึงรุนแรง มีอาการปวดลดลง ผู้ป่วยมีอาการนอนหลับดีขึ้นทั้งหมดและผู้ป่วยมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ผลของการใช้ยากัญชาสกัดชนิด THC เด่น ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม การศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนา พบว่า ผู้ป่วยนอนหลับดีขึ้น การลดความเจ็บปวดและความอยากอาการที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของโรคพาร์กินสัน มีงานวิจัยการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการของโรคอยู่ในระยะที่ 3 ได้รับกัญชา 2-5 หยดต่อวัน การใช้น้ำมันกัญชาตามขนาดยาที่ระบุข้างต้นในกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ปลอดภัยและมีแนวโน้มที่จะลดอาการและความรุนแรงของโรค ลดความเครียดและเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ ส่วนงานวิจัยผลกระทบทางด้านสังคม สุขภาพและเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายเริ่มต้นที่นำยากัญชามาใช้รักษาโรค สุดท้ายพบว่าเมื่อยาใช้รักษาโรค หรือเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ จะลดรายจ่ายของครัวเรือน และยิ่งเมื่อยาไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติก็ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่ายา และทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่าต้องผลิตผลิตภัณฑ์อะไร วัตถุดิบก็ปลูกได้ รวมถึงมาตรฐานการผลิตวัตถุดิบเพื่อการส่งออก ก็มีการแลกเปลี่ยนเรื่องมาตรฐานที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้เกิดการยอมรับของต่างประเทศ
ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่เราให้ความสนใจมาก คือ ผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ เพราะมีคนถามมามาก การศึกษาวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า กัญชาทางการแพทย์มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในโรครักษายาก ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านยาของตัวผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงการวิจัยและพัฒนาตำรับยาเพื่อถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการ ซึ่งตรงนี้เราก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์มาเพื่อใช้ในการตัดสินใจการดำเนินงานด้านนโยบาย ในส่วนผลกระทบด้านลบ เราก็พบว่าการใช้กัญชาก็เหมือนยาอื่นๆ ที่ต้องใช้ให้เหมาะสม การศึกษาวิจัยจะช่วยให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบด้านลบต่อสังคม ที่ต้องศึกษาให้นานขึ้น เพราะบทเรียนในต่างประเทศก็เห็นว่าในการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมจะเร็วมากในช่วงแรก แต่ในระยะยาวเมื่อสังคมเกิดการเรียนรู้ผลกระทบจะลดลง
“ในต่างประเทศผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตมักจะไปเลือกหาผลิตภัณฑ์กัญชา กระท่อมมาใช้ ซึ่งเขาก็มีกลไกมาป้องกันการเข้าถึง โดยการตรวจสอบบัตรประชาชน เราก็พบในประเทศไทยเช่นกัน และก็จะนำมาตรการเช่นเดียวกันมาใช้ ก็ต้องศึกษาต่อว่าได้ผลเช่นเดียวกับต่างประเทศหรือไม่ อยากให้สังคมได้ติดตามข้อมูลอย่างรอบด้าน อย่าตัดสินทุกอย่างด้วยเหตุการณ์เดียว” ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวทิ้งท้าย