เผยวิธีแก้หนี้ด้วย“ตลาดนำการผลิต” พลิกชีวิตสมาชิกสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด จังหวัดลำปาง

ใครจะไปนึกว่าสหกรณ์ที่มีแต่หนี้เสียกับหนี้ค้างจ่าย ไม่เคยมีรายได้เข้ามา แต่หลังจาก”สุทิน ปันคำ”เข้ามารั้งตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ กลับเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ สหกรณ์ไม่มีหนี้เสีย สมาชิกก็ไม่มีหนี้ค้างจ่าย สหกรณ์ก็มีรายได้มีกำไรเติบโตขึ้นทุกปีสำหรับ”สหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด” ในต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
กว่า 20 ปีในการบริหารจัดการของเขา ภายในการกำกับดูแลของคณะกรรมการสหกรณ์ฯ โดยการสนับสนุนสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง กรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้วันนี้สหกรณ์ที่มีสมาชิกเกือบ 2,000 ราย สามารถลืมตาอ้าปากได้


นายสุทิน ปันดี ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด เผยว่า สหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยาง ประสบสุก จำกัด เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ใช้น้ำจากฝายเพื่อปลูกพืช มีเพียงธุรกิจบริการเพียงอย่างเดียว ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่การดูแลเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เพิ่มธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด กล้วย พริก ปาล์มน้ำมัน เพื่อช่วยให้สมาชิกสหกรณ์ สามารถ ลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมอาชีพการปลูกข้าวโพดอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นบนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ใช้เป็นโครงการนำร่อง


“ต้องยอมรับว่าสหกรณ์แต่ละที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินคล้าย ๆ กันคือทำธุรกิจสินเชื่อปล่อยเงินกู้มีรายได้มาจากดอกเบี้ย แต่เมื่อเขาไม่มีรายได้เข้ามาตามทวงหนี้ยังไงเขาก็ไม่มีจ่าย ก็เลยนำปัญหานี้มาปรึกษากับทางคณะกรรมการสหกรณ์ว่า สหกรณ์จะมาดำเนินธุรกิจสินเชื่อเป็นหลัก เน้นรายได้จากธุรกิจสินเชื่อไม่ได้แล้ว วันนี้เราต้องหาอะไรที่ทำให้สมาชิกมีความมั่นใจและศรัทธากับสหกรณ์โดยที่เราต้องให้เงินสมาชิกกลับไปบ้าง ไม่ใช่เอาเงินจากสมาชิกมาอย่างเดียวในเรื่องธุรกิจสินเชื่อ”นายสุทินเผย
ก่อนลงมือดำเนินการทันทีหลังได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการฯ โดยเริ่มจากสหกรณ์เป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์การผลิตทุกอย่าง ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาค่าเมล็ดพันธุ์ให้กับสมาชิกที่รวมกลุ่มปลูกพืชตามความถนัด โดยใช้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เริ่มต้นจากพื้นที่ปลูก 60 ไร่ เมื่อปี 2545 จนวันนี้ได้ขยายพื้นที่ปลูกกว่า 4,000ไร่ ใน 3 ชนิด พืชหลัก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเหนียวสันป่าตองและมันสำปะหลัง
โดยเบื้องต้นคัดเลือกเฉพาะสมาชิกที่มีหนี้ค้างนาน 5-10ปี จากนั้นก็มาคัดอีกรอบเฟ้นหาเกษตรกรที่หัวไว ใจสู้เป็นการนำร่อง เริ่มจากรายละ 1-2 ไร่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสหกรณ์เป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมดทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 2,000 บาท พร้อมรับซื้อผลผลิตคืนในราคาประกัน ปรากฏว่าผลผลิตออกมาดีมาก ขณะที่ราคาข้าวโพดก็ดีด้วยในห้วงเวลานั้น
“ตอนนั้นข้าวโพดกิโลละ 7 บาท หลังหักหนี้ไร่ละ 2 พัน เขาก็ยังเหลือเงินเป็นหมื่น บางรายมีหนี้ค้าง หมื่นสองพร้อมดอกเบี้ย เราบอกหักดอกเบี้ยค้าง 2 พันก่อนนะ ส่วนเงินต้นรอบต่อไปค่อยหัก จากนั้นก้าวกระโดดจาก 60 ไร่เป็น 100 ไร่ในปีต่อมา ในปัจจุบันมีประมาณ 4-5 พันไร่”ผู้จัดการสหกรณ์ฯคนเดิมแนะวิธีแก้หนี้สมาชิก
สำหรับมูลค่ารับซื้อผลผลิตรวม ปี 2565 ล่าสุด เกือบ 200 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 70 ล้านบาท ข้าวเหนียวสันป่าตอง 20 ล้านบาท และพืชอื่น ๆ อีก 100 กว่าล้านบาท อาทิ มันสำปะหลัง กล้วยหอมทอง ถั่ว ฯลฯ โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต มีการวางแผนการปลูกร่วมกันระหว่างสหกรณ์ เกษตรกรสมาชิกและตัวแทนผู้ประกอบการเอกชนที่เข้ามารับซื้อผลผลิตในทุก ๆ ไตรมาสหรือรอบการผลิตพืชนั้น ๆ


“เราไม่ให้เกษตรกรปลูกแบบหาตลาดเอง จะปลูกอะไรไปคุยกับบริษัทก่อนแล้วมาจัดประชุมอบรม ตามเงื่อนไขตามขั้นตอน เกษตรกรจะต้องเข้าร่วมประชุมทุกรอบของพืชนั้น ๆ ปีที่แล้วสหกรณ์ได้กำไร 3 ล้านกว่าบาท ซึ่งเราจะไม่ค่อยเน้นตรงนี้มาก อย่างน้อยเราให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีมีรายได้ที่แน่นอน นั่นเป็นสิ่งที่สหกรณ์พอใจแล้ว ส่วนกำไรเพื่อปันผลให้กับสมาชิกสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกมากกว่า ตอนนี้สมาชิกที่เคยมีหนี้ค้างชำระยาว ๆ หลายปีไม่มีแล้ว สมาชิกนำเงินมาชำระหนี้คืนสหกรณ์หมดแล้ว เหลือแต่เงินกู้ตามปกติ ดอกเบี้ยค้างก็ไม่มีแล้ว” นายสุทิน ปันดี ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัดกล่าวและขอบคุณกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ให้การ สนับสนุนงบประมาณผ่านทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง ในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งรถตัก ลานตาก และยุ้งฉางเก็บผลผลิต ทำให้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสมาชิกได้อีกทางหนึ่ง
ด้านนางจารุณี เปล่งใส สมาชิกสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด ที่อาศัยอยู่ใน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปางกล่าวยอมรับว่าสามารถลืมตาปากได้ในวันนี้ เพราะสหกรณ์ฯให้โอกาส จนสามารถปลดหนี้สหกรณ์กว่า 3 หมื่นได้หมดนับตั้งแต่ผู้จัดการสุทิน ปันคำเข้ามารับตำแหน่ง ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 8 ไร่ สลับกับการปลูกข้าวเหนียวสันป่าตองและปลูกมันสำปะหลังอีก 7 ไร่


“มันสำปะหลังเก็บไปหมดแล้วเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ปีนี้ได้มา 3 แสนกว่าบาทหักค่าปุ๋ยค่ายาที่เอามาจากสหกรณ์ไป 3 หมื่นกว่าบาท เหลือกำไรอีก 2 แสนกว่า ส่วนข้าวโพดจะเก็บปลายเดือนนี้ เสร็จจากข้าวโพดก็จะปลูกข้าวต่อเลย”สมาชิกสหกรณ์คนเดิมกล่าวย้ำ