สหกรณ์การเกษตรบ้านหมอ จำกัด จ.สระบุรี หนุนสมาชิกกลุ่มเปราะบาง สร้างงานทำเงินผ่าน”กลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์”
“จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะได้ใช้ดีกับ”กลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์” โดยการสนับสนุนของสหกรณ์การเกษตรบ้านหมอ จำกัด ต.บ้านหมอ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ที่ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้มีโรคอ้วนที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนหรือทำงานนอกบ้านได้
ปัจจุบันกลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์มีสมาชิกจำนวน 30 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง มีรายได้จากการรับจ้างทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากรังไหมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วส่งให้กับกลุ่มเพื่อจำหน่าย อาทิ สบู่อาบน้ำรังไหม โคมไฟรังไหม กระเป๋ารังไหม พวงกุญแจรังไหม พวงมาลัยรังไหมและอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์
นางสาวนิชาภา เนื้อเย็น ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระบุรี ในฐานะรับผิดชอบดูแลกลุ่มอาชีพดังกล่าว เผยว่า กลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์ อยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนากลุ่มอาชีพโดยการสนับสนุนของสหกรณ์การเกษตรบ้านหมอ จำกัด จัดตั้งขึ้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ให้มีอาชีพและรายได้ โดยไม่ต้องหวังเงินช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว
“โครงการนี้เป็นการช่วยเหลือคนกลุ่มเปาะบางที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ให้เขาได้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้มีโรคอ้วน ตอนนี้กลุ่มอาชีพที่สหกรณ์ฯบ้านหมอสนับสนุนอยู่หลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่เข้มแข็งมีอยู่ 4 กลุ่มคือกลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์ กลุ่มสตรีสหกรณ์สารภี กลุ่มสตรีสหกรณ์บ่อพระอินทร์ และกลุ่มอาชีพเยาวชนตำบลตลาดน้อย”
นางสาวนิชาภาเผยต่อว่าสำหรับกลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์นั้นนอกจากช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มเปราะบางแล้ว ยังเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับสมาชิกหลังว่างเว้นจาการทำนา แรกเริ่มทางกลุ่มได้รับสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 40,000 บาท โดยเริ่มจากการนำรังไหมมาประดิษฐ์เป็นพวงกุญแจพวงมาลัย
จากนั้นในปี 2552 สมาชิกในกลุ่มพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯบ้านหมอได้รับทุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไปอบรมและศึกษาดูงานที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA และสถาบันพัฒนาสหกรณ์การเกษตรแห่งเอเชีย (IDACA) ประเทศญี่ปุ่นระยะเวลา 1 เดือนจากนั้นได้นำองค์ความรู้การบริหารจัดการและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากรังไหมของประเทศญี่ปุ่นกลับมาถ่ายทอดให้กับสมาชิกในกลุ่ม
กระทั่งปี 2563 สำนักงานสหกรณ์สระบุรีได้ร่วมหารือกับทางกลุ่มเพื่อสะท้อนปัญหาและแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าจากรังไหมเพิ่มเติม โดยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นโลชั่นสบู่จากดอกทานตะวันและมัลเบอรี่ร่วมกับอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำโคมไฟจากรังไหม กระเป๋าจากรังไหม ภายใต้แนวคิดแศรษฐกิจสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นตั้งแต่เริ่มต้นจนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้
ขณะที่ นางกัลยารัตน์ วิเชียรศรี ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรบ้านหมอ จำกัด กล่าวยอมรับว่าการพัฒนากลุ่มอาชีพเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯบ้านหมอ ภายใต้แนวคิด”เรามี เราทำ เพื่อเรา”เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจของชุมชน เป็นการนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญามาพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์
โดยแนวคิดแรก “เรามี” ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรบ้านหมอ จำกัด ได้มีการส่งเสริมสมาชิกหรือคนในครอบครัวที่อยู่ในชุมชนเดียวกันร่วมกันผลิตสินค้า นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างประโยชน์ เพื่อเพิ่มรายได้แก้ปัญหาความยากจน และยังได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ พร้อมทั้งบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากจังหวัดสระบุรีเป็นแหล่งเลี้ยงไหม ทำให้มีวัตถุดิบในท้องถิ่นที่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ส่วน”เราทำ” คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานรับรองใบจดแจ้งต่าง ๆ เช่นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โลชั่น ครีม สบู่ เหล่านี้เป็นสินค้ามาตรฐานสหกรณ์ มาตรฐานกรีนโปรดักส์ และยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและอุปกรณ์ทางการตลาดจากหน่วยงานผ่านภาคีเครือข่ายในจังหวัดสระบุรีอีกด้วย
และ “เพื่อเรา” คือสมาชิกกลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์สังกัดสหกรณ์การเกษตรบ้านหมอ จำกัดได้มีอาชีพเสริม เกิดการจ้างงาน มีวัตถุดิบในพื้นที่เป็นการสืบสานต่อยอดภูมิปัญญาเพิ่มทักษะอาชีพให้คนในชุมชนทั้ง 3 ช่วงวัย คือ วัยศึกษา วัยแรงงานและผู้สูงวัยเกิดความสุขแบบยั่งยืน
ด้านนางกรองจิตร ขจรภัย ประธานกลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์ กล่าวเสริมว่า เดิมทีกลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์ผลิตสินค้าเพียงพวงกุญแจดอกไม้ประดิษฐ์ ยังไม่มีการสร้างภาคีเครือข่าย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้สูงอายุ ต่อมาได้ เปิดโอกาสให้คนทั่วไป แต่จะเน้นกลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรก เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนกลุ่มนี้ที่มีทางเลือกไม่มากนักจะได้มีอาชีพมีรายได้แม้จะไม่มากมายแต่ก็สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ไม่ต้องพึ่งพาคนรอบข้าง
ส่วนรายได้ของกลุ่มนั้น นางกรองจิตรเผยว่าก่อนปี 2562 มีจำนวน 30,000 บาท เป็นเงินหุ้นของสมาชิก ต่อมาปี 2563 กลุ่มมีทุนดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 65,000 บาทแบ่งเป็นทุนที่สมาชิกถือหุ้น 30,000 บาท ทุนเงินสดและเงินฝากของกลุ่มอีก 35,000 บาท ส่วนสมาชิกมีรายได้จากค่าเย็บรังไหมชิ้นละ 700 บาท รายได้จากการทำเครื่องสำอาง วันละ 400 บาท รายได้จากค่าพนักงานขายสินค้าวันละ 400 บาท เป็นต้น
“เรื่องการตลาดไม่มีปัญหา ส่วนใหญ่จะทำตามออเดอร์ จะขาย ณ ที่ทำการกลุ่มและขายทางออนไลน์ โดยงานประดิษฐ์โคมไฟรังไหมจะขายดีที่สุด สนนราคามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมาสถานทูตญี่ปุ่นสั่งมาให้ทำหลายร้อยชิ้นเพื่อส่งไปประเทศญี่ปุ่นด้วย หากสนใจจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากรังไหม สามารถโทรติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข 090-4293609 ”ประธานกลุ่มอาชีพรังไหมประดิษฐ์เผย