“พาณิชย์” ชู “หัตถกรรมไทย” สร้างแบรนดิ้งให้ประเทศไทย ปั้นคราฟต์ไทยลุยตลาดของที่ระลึก คาดเงินสะพัดกว่า 7 พันล้าน
กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit จัดงาน “Andaman Craft Festival” สุดยิ่งใหญ่ สร้างแบรนดิ้งให้กับประเทศไทยด้วยสินค้าหัตถกรรมไทย ปลุกนักท่องเที่ยวถนนคนเดินภูเก็ตให้คึกคักถึงขีดสุด ชู“บัวขาว บัญชาเมฆ”สะท้อนพลัง Soft Power ผ่านกางเกงมวยไทยผ้าไหมสุดอลังการครั้งแรกของโลก ร่วมกับ “แอนนา เสือ” ประกาศศักดาแฟชั่น ผ้าไทยให้โลกรู้ หวังแบ่งเค้กสินค้า Soft Power ที่กำลังมาแรง คาดสร้างมูลค่าการค้าตลาดของขวัญ- ของที่ระลึกในปีนี้ สะพัดกว่า 7 พันล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานในพิธีเปิดงาน “Andaman Craft Festival” เปิดเผยว่า ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบและ มีจุดแข็งของประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวเพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ เรื่องของอาหารที่มีรสชาติอร่อยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมถึงความสวยงามและเสน่ห์ในด้านงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นความได้เปรียบในทุนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว จึงมีนโยบายในการผลักดัน Soft Power เพื่อขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” สู่ระดับโลก โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศ สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่า ให้สินค้าไทยมีความแตกต่าง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยในแต่ละปีสินค้าและบริการ Soft Power สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ มีมูลค่าทางการค้าจำนวนมหาศาลถึง 1.45 ล้านล้านบาท ครอบคลุมใน 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า 5F ได้แก่ Food อาหารไทย, Film ภาพยนตร์และ ละครไทย , Fashion การออกแบบแฟชั่นไทยและผ้าไทย , Fighting ศิลปะการป้องกันตัวมวยไทย และ Festival เทศกาลประเพณีไทย
กระทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit นำงานศิลปหัตถกรรมไทยมาสร้างแบรนดิ้งให้แก่ประเทศ โดยดึงเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดทางการค้าเชื่อมโยงเข้ากับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเป็นแรงหนุนให้สินค้า Soft Power ของไทยมีความได้เปรียบทางการค้ามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวกลับมาคึกคัก และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.ภูเก็ต นับเป็นเดสติเนชั่นของผู้คนทั่วโลก เป็นหนึ่งในพื้นที่ลำดับต้นๆที่มีศักยภาพสูง และงาน “Andaman Craft Festival” จะช่วยสร้างสีสัน
และส่งเสริมบรรยากาศของการท่องเที่ยวให้น่าประทับใจยิ่งขึ้น และเป็นอีกงานที่นักท่องเที่ยวจะปักหมุด เพื่อมาท่องเที่ยวภูเก็ตอีกครั้งเมื่อมาเยือน โดยในปี ๒๕๖๖ นี้คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายัง จ.ภูเก็ต มากถึง ๑๒ ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยอีก 4 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมและจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เป็นของขวัญ ของฝากและของที่ระลึก ทั้งภายในงานเองและตลอดระยะเวลาที่ พำนักในประเทศไทย โดยเฉลี่ยคนละ 600 บาท ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 นี้จะสามารถผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในตลาดสินค้าของขวัญของที่ระลึกในจังหวัดภูเก็ตเกิดเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท
ด้านนายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า การจัดงาน “Andaman Craft Festival” ในครั้งนี้เป็นการผสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ คือ จังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และเทศบาลเมืองภูเก็ต ภายใต้แนวคิด “Hand on the smile with Thai Craft” มอบรอยยิ้มและความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนด้วยงานศิลปหัตถกรรมไทยและความเป็นมิตรของคนไทย สำหรับไฮไลต์ที่เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ของงาน เมื่อ “บัวขาว บัญชาเมฆ” นักชกแชมป์โลกขวัญใจชาวไทยและโด่งดังไปทั่วโลกถ่ายทอดพลัง “Craft Power” ผ่าน “กางเกงมวยผ้าไหมไทย” สร้างความฮือฮาและเป็นที่กล่าวขวัญถึงของผู้มาร่วมงาน เพราะเป็นกางเกงมวยที่งดงามและวิจิตรมาก สร้างสรรค์ขึ้นจากผ้าไหมสีดำนิลของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผสมผสานการปักสะดึงกรึงไหมแบบโบราณฝีมือชั้นครู เป็นงานที่ประณีตบรรจงปักดิ้นทองอย่างละเอียด ให้ความรู้สึกหรูหราสง่างามและเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่ใกล้สูญหายหาชมได้ยากยิ่ง ส่วนที่เรียกเสียงเฟลช ได้กระหึ่มคือแฟชั่นโชว์ชุดฟินาเล่ของ “แอนนา เสืองามเอี่ยม” Miss Universe Thailand 2022 ที่ขึ้นสวมมงกุฎสะบัดผ้าไทยเดินอวดโฉมเรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง ส่วน “ไฮดี้ อมันดา” Miss Grand ภูเก็ต ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เดินนำขบวนพาเหรดสร้างสีสันสุดตระการตา พร้อมนักเรียนนักศึกษาลูกหลานชาวภูเก็ตในชุดพื้นถิ่นน่ารักสดใส เรียกกำลังใจจากนักท่องเที่ยวได้อย่างล้นหลาม นอกจากนี้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ลองเล่นการละเล่นแบบไทยทั้งมวยไทยไชยาและการเดินกะลา ทดลองทำงานคราฟต์ใน Workshop DIY / ร่วมทำและชิมเมนูอาหารไทย Soft Power ได้แก่ ผัดไทย-ส้มตำ-ขนมครก-ชาเย็น / เพลิดเพลินไปกับงานศิลปหัตถกรรมไทยและงานหัตถกรรมพื้นถิ่นกว่า 30 ร้าน และจุดที่วัยรุ่นสนใจมาก เป็นพิเศษคือมุมถ่ายภาพ Craft Photo เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังได้ให้ความสนใจ “กางเกงมวยไทย…ผ้าทอไทย” เป็นพิเศษ จับจ่ายซื้อหาเป็นของฝาก โดยให้เหตุผลว่าชื่นชอบและรู้จักศิลปะแม่ไม้มวยไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ กางเกงมวยที่จำหน่ายภายในงานมีความพิเศษแตกต่างจากกางเกงมวยที่มีจำหน่ายทั่วไปซึ่งมักผลิตจากผ้าร่มหรือผ้าซาติน เพราะผลิตจากผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ จากชุมชนผ้าทออู่ทอง และผ้าขาวม้าทอมือจากชุมชนผ้าทอเมืองเหน่อ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งจุดเด่นคือเนื้อผ้าใส่สบายระบายอากาศได้ดีและมีหลากสีสัน ถือเป็น ของที่ระลึกที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงาน คือพลังของคนตัวเล็ก น้องกานพลู ด.ญ.อัญช์ณฎา ลักขณา ได้นำเสนอมุมมอง “พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อน งานศิลปหัตถกรรมไทยในโลกดิจิทัล” สะท้อนให้คนไทยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมสืบสานอนุรักษ์ งานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทย ปิดท้ายงานด้วยคอนเสิร์ตจากทัพศิลปินชื่อดัง คนรุ่นใหม่ อาทิ วง MEAN , SPRITE , วง BAMM , เบล วริศรา และวาดฟ้า ไชยทัพ ที่นอกจากมาสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินด้วยเพลงสุดพิเศษแล้ว ยังสะท้อนพลังของการร่วมสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มคน รุ่นใหม่ด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า งาน “Andaman Craft Festival” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเกิดการจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เป็นของขวัญ ของฝาก และ ของที่ระลึก เกิดการกระจายรายได้แก่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ชาวบ้าน ชุมชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ต และในกลุ่มจังหวัดอันดามัน 14 จังหวัดภาคใต้ด้วย จึงนับเป็นการใช้ประโยชน์ จากการท่องเที่ยว ให้เอื้อต่อผลิตภัณฑ์ของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นการสร้างแบรนดิ้งให้กับประเทศไทย เพื่อให้ทั่วโลกได้เห็นถึงอัตลักษณ์คุณค่าความงดงามของหัตถศิลป์ไทย ให้ได้เกิดภาพจำของสินค้าหัตถกรรมไทยที่ร่วมสมัย เกิดความประทับใจและร่วมภาคภูมิใจในคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทยร่วมกัน