“พาณิชย์”หารือกรมปศุสัตว์ เร่งแก้ต้นทุนเลี้ยงโคนมพุ่ง
กรมการค้าภายในร่วมหารือกับกรมปศุสัตว์และเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงโคนม 4 แห่งถึงแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนการเลี้ยงโคนมพุ่ง เหตุวัตถุดิบหลักผลิตอาหารสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศขาดแคลน พร้อมประสานธกส.จัดสรรสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร
วันที่ 3 ก.พ.66 ที่ห้องประชุม กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาต้นทุนการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมร่วมนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและแปรรูปผลิตภัณฑ์นม (2010) จำกัด สหกรณ์โคนมด่านขุนทด จำกัด สหกรณ์พัทลุง จำกัด และสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด เนื่องจากปัจจุบันการเลี้ยงโคนมมีภาระต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่มีผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี และเมล็ดถั่วเหลืองที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ
“จากปัญหาภัยแล้งในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกส่งออกรายใหญ่ของโลก ทำให้ราคาข้าวสาลีและเมล็ดถั่วเหลืองได้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้”
อธิบดีกรมการค้าภายในเผยต่อว่าถึงแม้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันเส้นในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์จะมีราคาปรับสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้บริหารจัดการทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริมช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรทำให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ก็จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวกรมการค้าภายในได้มีการติดตามสถานการณ์การเลี้ยงโคนมและการผลิตน้ำนมดิบมาอย่างต่อเนื่อง
“จากการหารือในครั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยให้มีการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ระหว่างกลุ่มเกษตรกร โรงงานอาหารสัตว์และผู้ผลิตวัตถุดิบ รวมทั้งจัดหาให้มีการใช้วัตถุดิบทดแทนที่ผลิตได้ในประเทศ เช่น ปลายข้าว รำข้าว แทนกากถั่วเหลืองและมันเส้น นอกจากนี้ กรณีที่กลุ่มเกษตรกรต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทางการเงิน กรมการค้าภายในจึงได้ประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จัดสรรสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรอีกด้วย” อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวย้ำ
ทั้งนี้เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมได้มีการมอบหมายให้ตั้งทีมผู้ประสานงานระหว่างกรมการค้าภายใน กรมปศุสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรผู้ปลูกวัตถุทดแทน ในการติดตามสถานการณ์และหามาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป