สภานโยบายฯ เคาะงบด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 67 รวมกว่า 1.46 แสนล้านบาท มุ่งผลิตคนตอบโจทย์ประเทศ
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) จัดการประชุม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยประธานสภานโยบายฯ ได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวง หน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้เปิดเผยผลการประชุมว่า สนอว. ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2567 รวมกว่า 1.46 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณด้านการอุดมศึกษา 114,970.4034 ล้านบาท มีเป้าหมายผลิตกำลังคนในด้านการอุดมศึกษาไม่น้อยกว่า 1,385,086 คน ทั้งกลุ่มนักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญา (Degree) ตอบโจทย์กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ตามหมุดหมายที่ 1- 6 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 รวมทั้งการพัฒนากำลังคนหลักสูตรระยะสั้นรูปแบบ Non – Degree ไม่น้อยกว่า 25,000 คน การพัฒนากำลังคนตลอดช่วงชีวิต ไม่น้อยกว่า 275,000 คน รวมถึงโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา
สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จำนวน 31,100 ล้านบาท ครอบคลุมงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ งานมูลฐาน รวมทั้งการนำผลงานจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ คาดว่าจะเกิดผลตอบแทนจากการลงทุน 2 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 65,000 ล้านบาทจากผลผลิตนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิต รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. ที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล และเกิดธุรกิจฐานนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กรรมการและเลขานุการสภานโยบายฯ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายถึงการขับเคลื่อนโดยภาครัฐผ่านกลไก Sandbox และ Accelerator ของนวัตกรรม เพื่อให้เกิดพื้นที่นำร่องและสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรม โดยได้เห็นชอบกรอบมาตรการนำ อววน. เข้าหนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ตามเจตนารมณ์ของประเทศที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ ตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ. 2608 มีมาตรการจัดทำนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกับภาคอุตสาหกรรม จัดตั้งเครือข่าย และการเชื่อมโยงกลไกด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและด้านการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้จะได้ริเริ่มการทำงานเชิงพื้นที่ในลักษณะแซนด์บ็อกซ์ เช่น สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ระยองแซนด์บ็อกซ์ แม่เมาะโมเดล
นอกจากนี้ประชุมได้เห็นชอบโครงการผลิตฉุกเฉินการแพทย์บัณฑิตโดยหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) นำโดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่ง และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ จำนวน 15,000 คน ภายใน 10 ปี ตอบโจทย์การขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์ในระบบบริการปัจจุบันซึ่งมีเพียงประมาณ 5,000-6,000 คน ส่วนใหญ่ผ่านการฝึกอบรมระยะสั้น ทักษะความรู้ส่วนใหญ่เน้นการบริบาลเป็นหลัก แต่การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินยังครอบคลุมผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลประเภทอื่นๆ ด้วย การที่ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาในห้องฉุกเฉินเร็วขึ้น 1 นาทีในทุกๆ อุบัติเหตุ จะสามารถลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี