อว. เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก นำร่อง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”
อว. เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก นำร่อง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ต้นแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ “แม่เมาะโมเดล” สร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ ลดปัญหาหมอกควันไฟป่า “เอนก” เสนอตั้งกลุ่มเครือข่ายในมหาวิทยาลัยร่วมขับเคลื่อน พร้อมมอบ สอวช. หัวขบวนจัดเวทีสื่อสร้างสรรค์ เพื่อเป้าหมายสร้างสังคมที่เข้มแข็ง
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 5/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม
การประชุมครั้งนี้ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอ กลไกเชิงยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Greenhouse Gas Net Zero) รวมถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมและกําลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และกรอบทิศทางการดำเนินงาน 5 ปี ของ สอวช.
สำหรับกลไกเชิงยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่ประเทศไทยโดยนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 สอวช. ได้วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยทำเป็นสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และชุมชน ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และพื้นที่เขตอำเภอแม่เมาะ เป็นแม่เมาะโมเดล สร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ เพื่อลดปัญหาหมอกควันไฟป่า และสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชน
ดร.เอนก กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมให้เห็นภาพการดำเนินงานที่เกี่ยวโยงกับบีซีจีโมเดลได้ชัดเจนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ของเราเองให้มากขึ้น ต้องมองหาแนวทางอะไรที่เป็นแผนเร่งรัด (Quick Win) เป็นหมัดหนักๆ ที่จะทะลุทะลวงไปสู่เป้าหมายได้ โดยมองถึงแนวทางการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของบริษัทหรือองค์กร (Corporate University) ที่เน้นทำในเรื่องเศรษฐกิจหมนุเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หาแนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเสริมพลังในการขับเคลื่อน อีกทั้งยังต้องวิเคราะห์ถึงแนวทางการทำงานร่วมกับเครือข่ายในต่างประเทศ ควรต้องร่วมมือกับประเทศใด ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า กัมพูชา ต้องคำนึงถึงโอกาสในการทำงานร่วมกันกับประเทศเหล่านี้เพื่อให้เกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในการดำเนินงาน
ดร.เอนก ยังได้กล่าวเสริมว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สอวช. เป็นสองหน่วยงานหลักที่มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ เครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ และงบประมาณ ต้องทำงานเคียงคู่กันไปและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับรัฐมนตรี เพื่อให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น และยังให้ข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งเป็นกลุ่มเครือข่าย (Consortium) ในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือในด้านบีซีจี โดยทำงานร่วมกับ สกสว. หรือหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) ที่จะมีบทบาทเข้ามาช่วยกำหนดทิศทางการทำงาน หรือสรรหาคนมาทำงานร่วมกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจปรับรูปแบบให้มีการสอนน้อยลง แต่เพิ่มการทำวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจนลงไปมากขึ้น รวมถึงการมองแนวทางดึงนักศึกษาจากประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV) เข้ามาศึกษาในประเทศไทย มีกลไกต่างๆ เข้ามารองรับ และดึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาด้วย
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้นำเสนอการขับเคลื่อนนวัตกรรมและกําลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยระบุว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ สอวช. ได้มุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และวางแผนเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและกำลังคนในการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในรูปแบบของการตอบโจทย์ความต้องการจริง (demand-driven) ในด้านที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ผ้าไทยและการออกแบบ แฟชั่น และการอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีโอกาสในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแต่ยังขาดกำลังคน นวัตกรรม และระบบนิเวศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม
“โลกปัจจุบัน ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชน สามารถนำเสนอ แสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง อาจขาดการกลั่นกรอง ทำให้สารที่ส่งออกไปมีความหลากหลาย ถ้าเป็นการสื่อสารที่ดีก็จะพาสังคมไปสู่สังคมที่ดี แต่ถ้าไม่ดีก็จะนำไปสู่สังคมที่อ่อนแอลง สอวช. จึงควรจะจัดเวทีพูดคุยกันในแวดวงผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์ขึ้นมา เราจำเป็นต้องทำเป็นเชิงก้าวหน้าเพราะสังคมเปลี่ยนไปเร็วมาก ต้องทำให้เกิดเป็นสังคมสร้างสรรค์ให้ได้ ภายใน 3 ปี ผ่านทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี บพค. คอยให้คำแนะนำ และให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ริเริ่มทำ เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางสร้างจิตใจที่ดี (Good Mind), ชุมชนที่ดี (Good Community) และสังคมที่ดี (Good Society)” ดร.เอนก กล่าว
ดร.กิติพงค์ ยังได้นำเสนอ กรอบทิศทางการดำเนินงาน 5 ปี ของ สอวช. โดยระบุว่า สอวช. มุ่งให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มาเสริมและเร่งให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้สำเร็จ โดยได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน ที่จะขับเคลื่อนภายในปี 2570 ในมิติที่สำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การผลักดันให้ประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านการสร้างผู้ประกอบการฐาน นวัตกรรม 1,000 ล้านบาทให้ได้1,000 บริษัท โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อปลดล็อค ศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมของคนในพื้นที่ ควบคู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ อุตสาหกรรม 2. การขยับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก (Social Mobility) 1 ล้านคน ผ่านการใช้กลไก อววน. ช่วยยกระดับรายได้ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พัฒนาผู้ประกอบการฐานราก สร้างหลักประกันโอกาส การเข้าถึงการศึกษาสร้างและยกระดับผู้ประกอบการชุมชน และเกษตรอัจฉริยะ ในห่วงโซ่อุปทาน 3. การมีฐานกำลังคนสมรรถนะสูงเพียงพอรองรับการพัฒนาในอนาคต 20,000 คน/ปี เพื่อดึงดูด และรักษาการลงทุนในประเทศ และพัฒนาการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) ตอบโจทย์ โลกอนาคตและตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม (Industrial need) 4. การพัฒนาที่ยั่งยืน เร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อการปล่อยก๊าฐเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านรูปแบบของกลุ่มเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมและการศึกษา (Industrial and Academic Consortium) รวมถึงการพัฒนาแผนที่นำทางการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการ ปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย (Innovation Roadmap for Decarbonization) ปี 2570 เพื่อให้ บริษัทส่งออกร้อยละ 50 มีแผนบรรลุคาร์บอนสุทธิศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065 และ 5. การปฏิรูประบบ อววน. ที่เน้นการปรับปรุงเชิงโครงสร้าง องค์กร ระบบงบประมาณภาครัฐ ระบบข้อมูล และการวิเคราะห์และประเมินผลนโยบาย อววน. เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพการบริหารจัดการ