ครึ่งศตวรรษแห่งการพัฒนาสหกรณ์ สู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนเกษตรกรไทย
กว่าครึ่งศตวรรษกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่าง ๆผ่านนโยบายรัฐบาล โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์กว่า 12 ล้านครอบครัว จากสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศในวันนี้ ทั้งนี้เพื่อยกระดับภาคการเกษตรให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้นและสามารถเชื่อมโยงตลาดได้ด้วย
การดำเนินงานก้าวหน้ามาโดยตลอดเห็นได้จากทุนดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มูลค่า 3.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.47 หมื่นล้านบาท ยิ่งกว่านั้นมีปริมาณธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวมมูลค่า 2.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.85 หมื่นล้านบาท
จะเห็นว่าทุกโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรตลอดปี 2565 ตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้กลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด สานต่ออาชีพการเกษตรของครอบครัว หรือโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ รองรับสินค้าและผลผลิตของสมาชิก รวมถึงเครือข่ายสหกรณ์ต่างภูมิภาคมาวางจำหน่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าและผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์ได้ในราคายุติธรรมนั้นล้วนส่งผลทำให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง และมีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น
“พ.ศ.ที่เปลี่ยนไป แต่งานหลักของเราก็ต้องทำต่อไป วันนี้เราได้มาทำสิ่งที่ตั้งใจ อย่างไรก็แล้วแต่นโยบายเก่าเราต้องทำให้มั่นคง ก่อนจะไปตอกเสาเข็มต้นต่อไป เราต้องหันมามองว่าเสาเข็มที่เราตอกไปนั้นเป็นความมั่นคงถาวรเปรียบต้นไม้ก็ต้องมีรากแก้ว ต้องเจอพายุฝนต่าง ๆ ที่จะถาโถมเข้ามา ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมเราต้องกลับมาดูว่าเกษตรกรสมควรจะต้องมีอะไร อย่างโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน ก็ต้องไม่ให้เขาเคว้งคว้าง หรือซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ต้องทำหน้าที่กระจายสินค้าที่ดีมีคุณภาพและปลอดภัยให้กับผู้บริโภค เดี๋ยวนี้ทุกกระทรวงต้องหันมามองว่า สหกรณ์มีศักยภาพ สามารถเป็นแหล่งกระจายสินค้าได้ เมื่อมีนโยบายใหม่ ๆ เข้ามาอย่าลืมสานต่อนโยบายเก่าจะได้ไม่ขาดช่วง ไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง”นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 50 ปีกรมส่งเสริมสหกรณ์ วันที่ 1 ตุลาคม 2565
อย่างไรก็ตามในปี 2566 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังคงเดินหน้าสนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ฉบับที่ 5 ภายใต้วิสัยทัศน์ “สหกรณ์เข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก”ในพันธกิจ 5 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนาบุคลากร เพิ่มสมรรถนะ ทักษะ ความรู้ ด้านดิจิทัลและนวัตกรรม การพัฒนาองค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนหลักธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการ การพัฒนาด้านข้อมูลสารสนเทศ ด้วยการสร้างนวัตกรรม วางระบบข้อมูล ทำให้เข้าถึงได้ง่าย และผู้ใช้มีความเชื่อมั่น การส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ การแข่งขันและการกำกับดูแลสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้ทันต่อสถานการณ์
โดยมีความมุ่งหวังให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นองค์กรด้านการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนงานส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถใช้ข้อมูลสารสนเทศประกอบการวางแผน การพัฒนาองค์กร ยกระดับสู่องค์กรสมรรถนะสูง ด้วยนวัตกรรม มีความสามารถในการแข่งขัน มีธรรมภิบาล สร้างความกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม พร้อมปรับตัวเพื่อก้าวสู่ “Next Normal” บนพื้นฐานของความสมดุลและยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายตามแผนการพัฒนาประเทศ เพื่อให้“ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสำคัญในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลายส่วนหนึ่งพี่น้องเกษตรกรมีปัญหาเรื่องการจำหน่ายผลผลิต ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเน้นตลาดนำการผลิต จะต้องหาตลาดให้พี่น้องเกษตรกรก่อนเริ่มต้นการผลิตอะไรจะได้ตรงกับความต้องการของตลาด อีกส่วนก็จะเน้นการทำผลิตแบบแปลงใหญ่เพื่อรวมกลุ่มผู้ผลิตให้สามารถลดต้นทุนลง โดยการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการแปลงร่วมกัน ผ่านระบบเศรษฐกิจพอเพียง
“เราจะเห็นว่าสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่มีที่ดินค่อนข้างน้อยคนละ 5 ไร่ 10 ไร่ เราก็ให้เน้นการผลิตที่พอกินพอใช้ในครัวเรือนก่อนเพื่อให้เขาลดค่าใช้จ่าย เน้นทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้เขารู้รายได้รายจ่ายของเขาแล้วนำส่วนที่เหลือไปขายในตลาด เราก็จัดตลาดให้เขา ทั้งที่เป็นตลาดในท้องถิ่นและซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เน้นให้เขาผลิตสินค้าที่มีรายได้ตลอดทั้งปี มีทั้งปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ มีรายได้รายวันรายเดือน รวมถึงปลูกไม้ยืนต้นมีรายได้รายปีควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ไปด้วยอาจจะเลี้ยงวัวตัวสองตัวหรือเลี้ยงสัตว์อย่างอื่นเพื่อนำมูลมาทำปุ๋ยใช้สำหรับปลูกพืชต่อไป”อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผย
นายวิศิษฐ์ยังกล่าวถึงแหล่งทุนที่มาสนับสนุนสมาชิกสหกรณ์ให้มีอาชีพและรายได้ว่ากรมส่งเริมสหกรณ์มีเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 ให้เกษตรกรสมาชิกที่ประสงค์จะกู้เปลี่ยนอาชีพจากเดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้หันมาทำเกษตรผสมผสาน โดยให้สมาชิกสหกรณ์กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาทและ 30,000 บาท มีระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3-5 ปี นอกจากนี้ยังมีโครงการพักชำระหนี้และลดต้นลดดอกจนกว่าเขาจะมีรายได้เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรสมาชิกที่ไม่สามารถชำระหนี้นอกระบบได้
“เหตุผลที่เราไม่ให้กู้จำนวนเงินมากมาย ก็เพราะเราจะเข้าไปเสริมและต้องการให้เขาใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการทำการเกษตรเพื่อให้เขามีรายได้ที่สามารถอยู่ได้ เพราะวิถีชีวิตเกษตรกรในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว มีแต่หนี้ เราก็พยายามพลิกฟื้นกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อให้เขาอยู่ได้ มีรายได้เพียงพอ ไม่อย่างนั้นครอบครัวของเกษตรกรก็จะล่มสลาย เพราะภาวะหนี้ สุดท้ายก็อพยพโยกย้ายไปที่อื่นก็จะมีปัญหาทางสังคมตามมา”อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์สรุปทิ้งท้าย