เกาะติดสถานการณ์น้ำปี 2565 ฟันธง! ไม่ซ้ำรอยปี2554
สถานการณ์ฝนตกหนักและเกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ภาคตะวันออก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดเลย ทำให้มีสืื่อหลายสำนัก และนักวิชาการบางท่านออกมาให้ข่าวว่า อาจจะเกิดน้ำท่วมซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
มาวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกันว่า ปีนี้จะเกิดมหาอุทกภัยหรือไม่ ?
แม้กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) ได้คาดการณ์ในช่วงปลายฤดูฝนจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยเฉพาะในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565 อาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันได้ก็ตาม แต่ก็ใช่ว่า สถานการณ์จะรุนแรงเทียบเท่าปี 2554
มหาอุทกภัยในปี 2554นั้น มีสาเหตุสำคัญมาจาก พายุหลายลูกเคลื่อนตัวผ่านและส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรง รวมทั้งยังเกิดร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันฝนประจำฤดูก็ยังตกหนักและมาเร็วกว่าปกติอีกด้วย ทำให้ปริมาณฝนตกสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 35% นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีแรก เกิดปรากฏการณ์ลานีญาที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติทุกเดือน การระบายลงสู่ทะเลก็ค่อนข้างทำให้ยาก เพราะเกิดน้ำทะเลหนุนบ่อยครั้ง ประกอบกับมีสิ่งกีดขวางทางน้ำมากมายทั้งจากธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
นอกจากนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภุมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่องจนน้ำเต็มความจุ ทำให้ต้องระบายน้ำออก รวมทั้งยังมีมวลน้ำจำนวนมากจากลุ่มน้ำยมที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่กักเก็บไว้ ผนวกกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ท้ายเขื่อน ไหลลงมาสบทบ จนทำให้เกิดมหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล
ส่วนสถานการณ์น้ำในปี 2565 แม้จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ฝนมาเร็ว หลายพื้นที่ของประเทศมีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงขึ้นเช่นเดียวกับปี 2554 ก็ตาม แต่ความรุนแรงจนถึงขณะนี้ยังไม่เท่ากับปี 2554 รวมทั้งพายุที่เกิดขึ้นมีเพียง 2-3 ลูก ที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้พัดผ่านโดยตรง
ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 13มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ประกอบด้วย 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง 2.การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ 4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ 5.ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7.เตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง 8.เพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคันทำนบ พนังกั้นน้ำ 10.เตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ 11.ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย 12.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ 13.ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2554 ได้ถูกนำมาถอดบทเรียนวางแผนแก้ไข รับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ ได้มีการมีแก้ไขปรับปรุงขุดลอกคลอง กำจัดผักชวา ขยะ ต้นไม้ กิ่งไม้ อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเล เช่นเดียวกับปัญหาความซ้ำซ้อน ไม่มีเอกภาพก็ได้รับการแก้ไขเช่นกัน ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ก็ได้มีการตั้งศูนย์ส่วนหน้าเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยได้จัดตั้งไปแล้วที่ จ.อุบลราชธานี และเตรียมตั้งศูนย์ในภาคกลาง ที่ จ.ชััยนาท อีกแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อม ติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่ บริหารจัดการมวลน้ำในช่วงฤดูฝนให้เกิดความเป็นเอกภาพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ในขณะที่การบริหารจัดการน้ำภาพรวมทัั้งประเทศ ได้จัดตั้ง การกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ขึ้นมาบูรณาการหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เป็นหนึ่งเดียว และเกิดประสิทธิภาพสูสุด ตลอดจนติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัยสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกช่วงเวลา โดยล่าสุดพลเอก ประวิตร ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝนตกอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งได้กำชับให้ดำเนินงานตาม 13มาตรการรับมือฤดูฝนที่ได้วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาลดปัญหาน้ำท่วมให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และทั่วถึงทุกพื้นที่
ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศในปีนี้ก็แตกต่างจากปี 2554 ณ วันที่ 10 กันยายน 2565 มีปริมาณน้ำใช้การรวม 49,887 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 65 % ของปริมาณการกักเก็บเท่านั้น ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกถึง 26,201 ล้านลบ.ม. ในขณะที่ปี 2554 ใ่นช่วงเวลาเดียวกันมีปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่และขนาดกลางมากถึง 58,563 ล้านลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาปริมาณใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 10 กันยายน 2565 มีปริมาณน้ำรวม 13,792 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 55% ของปริมาณการกักเก็บ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกถึง 11,079 ล้านลบ.ม. เมื่อเทียบกับปริมาณปี 2554 ในช่วงเวลาเดียวกัน 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันถึง 21,416 ล้านลบ.ม. ต่างกันมากกว่า 10,000 ล้านลบ.ม.
นอกจากนี้ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ยังจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง สำรองเพิ่มเติมกรณีที่จำเป็น เพื่อไว้เป็นแก้มลิงรองรับน้ำหลากในช่วงกลางเดือนก.ย.- ต.ค.นี้ จะสามารถหน่วงปริมาณน้ำหลากได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วคาดว่า จะแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงกลางดือน ก.ย.นี้ เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ก็ได้เตรียมพื้นที่รับน้ำไว้เช่นกัน
ดังนั้นหากวิเคราะห์จากสถานการณ์น้ำเหนือ ณ ปัจจุบันแล้ว สบายใจได้ว่า ถ้าฝนตกเหนือเขื่อนแล้ว จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างแน่นอน เพราะเขื่อนต่างๆจะสามารถกักเก็บไว้ได้ทั้งหมด ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาจากฝนที่ตกท้ายเขื่อนและฝนตกในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ได้มาจากน้ำเหนือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงไม่เท่ากับปี 2554 หากฝนหยุดตก ก็จะใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำออกสู่ทะเลไม่ยาวนาน
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้คากการณ์สถานการณ์ฝนในประเทศไทยว่า ยังคงมีต่อเนื่องหนักบ้างเบาบ้างสลับกัยในแต่ละวัน มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ยังมีกำลังปานกลาง ทั่วทุกภาคยังต้องเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วม ฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
“ในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. 2565ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่ง กอนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจเกิดน้ำท่วม ตลอด 24ชั่วโมง และให้ดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญจะต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผน การระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ รวมทั้งให้บริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช.กล่าว
หากวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในปีนี้จนถึงปุจจุบัน ตลอดจนการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆในการรับมือฤดูฝนของหน่วยงานภาครัฐแล้ว “พลเอก ประวิตร” ได้ออกมาการันตีว่า…
เหตุการณ์จะไม่ซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 แน่นอน