กรมส่งเสริมสหกรณ์ปลื้มคว้ารางวัลเลิศรัฐ ปี 65 เตรียมยก 11 ผลงานขยายผลสู่สหกรณ์ต้นแบบ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ปลื้ม คว้ารางวัลเลิศรัฐปี 65 มาครองรวม 11 ผลงาน จาก 2 สาขา เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ถึง 6 ผลงาน ชี้แสดงให้ถึงประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรกรม
วันที่ 12 ก.ย. 65 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้จัดพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ.2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสถานที่รับมอบรางวัลและรับชมงานเพื่อส่งแรงใจเชียร์ พร้อมการถ่ายทอดสดออนไลน์การจัดพิธีมอบรางวัลไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาคและสหกรณ์ภาคีเครือข่าย ณ ห้องประชุม 226 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพฯ โดยมี ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะทีมงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับชม
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวภายหลังพิธีการมอบรางวัลว่า ปีนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 11 ผลงาน จาก 2 สาขา ประกอบด้วย สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการระดับดี 1 รางวัล และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 10 รางวัล เป็นประเภทรางวัลร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น 2 รางวัล และระดับดี 7 รางวัล ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี 1 รางวัล ส่วนสาขาการบริหารจัดการภาครัฐปีนี้ไม่มีการส่งประกวดแต่อย่างใด
“ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการทำให้กรมได้รับรางวัลเลิศรัฐในปี 2565 นี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 แสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อพิจารณาจากรางวัลในปีนี้แล้วของเราอยู่ในลำดับต้น ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวชื่นชม
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนงานและยกระดับการให้บริการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเสนอผลงานของรับรางวัลเลิศรัฐ กล่าวเสริมว่า ปีที่แล้วกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มา 5 รางวัล ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 11 รางวัล เป็นรางวัลที่ได้มาค่อนข้างยากลำบาก เพราะมีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาประเมิน หลังจากอธิบดีได้มอบหมายให้ดูเรื่องนี้ปีที่แล้ว จึงได้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ส่วนอีกสาขาที่ไม่ได้ส่งประกวดนั้น เป็นสาขาบริหารจัดการภาครัฐในองค์กรของกรมเอง ซึ่งขณะนี้ได้เร่งดำเนินการในหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่การจัดทำฐานข้อมูล (ระบบ MIS) เพื่อใช้ประกอบการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ ของผู้บริหาร และเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ สนองตอบกลุ่มผู้รับบริการ (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร) ให้ได้ประโยชน์สูงสุด และยังมีอีกหลายโครงการที่สามารถส่งเข้าประกวดได้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการแก้ปัญหาน้ำในไร่นา กองทุนพัฒนาสหกรณ์ และอีกหลายโครงการ ซึ่งปีหน้าตั้งใจส่งให้ครบทั้ง 3 สาขา
“จะเห็นว่าทุกสหกรณ์ที่ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งที่ได้และไม่ได้รับรางวัล มีการบริหารงานที่โปร่งใส มีการจัดทำบัญชีทำให้ตรวจสอบได้ ไม่มีประวัติการทุจริต กรมต้องดูว่าจะรักษากลุ่มนี้ไว้ได้อย่างไร สิ่งแรกต้องทำให้เป็นสหกรณ์ต้นแบบเพื่อต่อยอดขยายผลต่อไป รางวัลนี้ประเมินจากหน่วยงานภายนอก ทั้ง สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ป.ย.ป. คณะผู้ประเมินมาจากภาครัฐ ภาคเอกชน จึงเป็นรางวัลที่มีคุณค่ามากสำหรับการได้มา” ประธานคณะทำงานฯ คนเดิมกล่าว
ด้าน นางสาวนิ่มนวล ศรีรักษา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลระดับดี สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประเภทรางวัลร่วมใจแก้จน กล่าวรู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ถือเป็นกำลังใจอย่างดียิ่งให้กับคณะกรรมการฯและทีมงานในการช่วยเหลือสมาชิกต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อปีที่แล้วสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด ยังได้รับรางวัลร่วมใจแก้จนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของกรมส่งเสริมสหกรณ์มาแล้วด้วย “จุดเด่นของเราคือนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาส่งเสริมการพัฒนาอาชีพสมาชิกให้เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาให้เขามีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคงมีความอยู่ดีกินดี สมาชิกอยู่ได้ สหกรณ์ก็อยู่ได้ ขอบคุณ กรมส่งเสริมสหกรณ์และหน่วยงานเจ้าของรางวัลที่มอบรางวัลดังกล่าวให้กับเรา” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด กล่าวอย่างภูมิใจ
สำหรับรางวัลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้รับในปี 2565 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 11 รางวัล สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ 1 รางวัล จากผลงาน รัฐร่วมมือ ราษฎร์ร่วมใจ แก้หนี้ด้วยวิถีพอเพียง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนม และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม 10 รางวัล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัล สัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม 1 รางวัล ผลงานความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นพลิกโฉมกาแฟพรีเมี่ยมดอยสะเก็ด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่และรางวัลร่วมใจแก้จน 9 รางวัล เป็นรางวัลระดับดีเด่น 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงานเลี้ยงควายแก้จน บนวิถีพอเพียงบ้านเกาะแกด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี และผลงานเห็ดหูหนู กู้วิกฤติแก้จนชุมชนบ้านเชิงสะพานสำนักงานสหกรณ์จังหวัดราชบุรี และรางวัลระดับดี 7 ผลงาน ได้แก่ ผลงานการตลาดนำการผลิต พริก พลิกชีวิตความจน คนท่าวังผา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดน่านร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผลงานสืบสานต่อยอดอาชีพหม่อนไหม ดงบังร่วมใจ ชุมชนพอเพียง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ ผลงาน “ปลาส้มสายเดี่ยว” สร้างงาน สร้างอาชีพ ชุมชน คนหลังเขื่อนอุบลรัตน์ สหกรณ์การเกษตรโนนสัง จำกัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดหนองบัวลำภู ผลงาน “เห็ดกุดดินจี่” เปลี่ยนชีวิต พิชิตความจน ชุมชนเข้มแข็ง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดหนองบัวลำภู ผลงานเปลี่ยนผืนนา สู่แปลงปาล์ม สร้างรายได้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลงานแก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ และผลงาน “แปลงใหญ่” รวมพลัง สร้างรายได้สหกรณ์นิคมพนม จำกัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำกัด