กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดแผนพัฒนาความเข้มแข็ง เสริมแกร่งด้านการเงิน-บัญชี ครอบคลุมทั้งสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน สร้างความโปร่งใสอย่างยั่งยืน

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า การพัฒนาความเข็มแข็งด้านการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของแผนปฏิบัติราชการของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ ตรวจสอบบัญชี และส่งเสริมการทำบัญชี เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โปร่งใสแก่สหกรณ์และเกษตรกร สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาซึ่งการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีระบบการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในที่ดี สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ ช่วยยกระดับศักยภาพสถาบันเกษตรกรและพัฒนาสหกรณ์ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน


“ปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต้องเข้าปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี จำนวน 11,800 แห่ง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปปรับปรุงการบริหารจัดการและอํานวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ที่มีมูลค่ากว่า 3.58 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ภายใต้แผนปฏิบัติราชการของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้จัดทำแผนพัฒนาความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนขึ้น โดยกำหนดตัวชี้วัดที่มีเป้าหมายให้กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่จัดทำบัญชีและงบการเงินได้เอง รวมถึงสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินและสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีชั้นคุณภาพการควบคุมภายในระดับดีขึ้นไป ภายใต้แนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง”


อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวถึงรายละเอียดในการดำเนินตามแนวทางการพัฒนาว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาที่ 1 พัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชี เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและโปร่งใสให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะเข้าไปดำเนินการพัฒนา อาทิ การพัฒนามาตรฐานการบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยการกำหนดมาตรฐานการบัญชีคำแนะนำ รวมถึงจัดทำคู่มือเพื่อเผยแพร่วิธีการปฏิบัติที่สอดรับกับกฎหมายและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ในปัจจุบัน พัฒนาระบบบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ พัฒนามาตรฐานการสอบบัญชีสหกรณ์โดยการกำหนดระเบียบ กำหนดระดับสาระสำคัญ วิธีการประเมินความเสี่ยง และแนวการสอบบัญชี เป็นต้น
ส่วนแนวทางการพัฒนาที่ 2 พัฒนาระบบกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพการสอบบัญชีสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะมุ่งให้การปฏิบัติงานสอบบัญชีเป็นไปตามระบบมาตรฐานการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี (TSQC1) เตรียมความพร้อมและพัฒนาสู่มาตรฐานทางการบริหารคุณภาพ (TSQM) สำหรับสำนักงานสอบบัญชีรวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดด้านจรรยาบรรณ”
ขณะที่ แนวทางการพัฒนาที่ 3 พัฒนาความสามารถด้านการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในแก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน อาทิ การเพิ่มศักยภาพของการจัดทำบัญชี งบการเงิน และยกระดับชั้นคุณภาพการควบคุมภายในสถาบันเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง โดยพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสถาบันเกษตรกรให้สามารถนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการสนับสนุนความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจการเงินขั้นพื้นฐานแก่สมาชิกสหกรณ์ เพื่อสร้างระบบให้สมาชิกเข้ามา
มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ รวมถึงพัฒนาวิสาหกิจชุมชนด้านการเงินการบัญชีให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ พัฒนาระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ โดยพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินระบบการควบคุมภายใน ให้เหมาะสมกับขนาดและปริมาณธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เป็นต้น
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาที่ 4 ว่า จะพัฒนาระบบการรายงานภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของสหกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มีการพัฒนาที่สำคัญอาทิ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางการเงินของสหกรณ์ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรและระบบประเมินความเสี่ยงด้านการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น
ส่วนแนวทางการพัฒนาที่ 5 พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีด้านการบัญชีและการสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้พัฒนาโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่าย สะดวก ทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกมิติ มีการเชื่อมโยงข้อมูลให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ผลักดันให้มีการใช้โปรแกรม และมีการติดตามความพึงพอใจอย่างต่อเนื่อง พัฒนาระบบการเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์ ให้สหกรณ์รู้ความเสี่ยงทางการเงินของตนเอง