มูลนิธิมก. จับมือสถานีวิทยุมก. และกรมพัฒนาที่ดิน มอบประกาศนียบัตรและปิด โครงการนำร่องโรงเรียนหมอดินอาสาทางอากาศภาคอีสาน
วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล มีพิธีมอบประกาศนียบัตร นักเรียนโรงเรียนหมอดินอาสาทางอากาศ ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร “โครงการนำร่องโรงเรียนหมอดินอาสาทางอากาศ” ด้วยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สถานีวิทยุ ม.ก.) มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ กรมพัฒนาที่ดิน โดย สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 หลังจากมีการเรียนการสอน ผ่านสถานีวิทยุ ม.ก.ขอนแก่น AM 1314 kHz และสื่อดิจิทัลของสถานีวิทยุ ม.ก. ทุกช่องทาง เมื่อจบหลักสูตรมีการสอบวัดผล และมอบประกาศนียบัตรให้กับนักเรียนผู้จบหลักสูตร โดยได้รับเกียรติจาก นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรและพิธีปิดโครงการฯ ซึ่งนับว่าเป็นโรงเรียนหมอดินอาสาทางอากาศแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการเรียนการสอนผ่านสื่อวิทยุของโรงเรียนหมอดินอาสา รวมถึง มีการวัดผลการเรียนของหมอดินอาสาที่เป็นนักเรียนในโครงการอีกด้วย
นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า “โครงการหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน ได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ดินในระดับพื้นที่ให้ทั่วถึงในทุกหมู่บ้านของประเทศไทย หมอดินอาสาคือเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกมาจากแต่ละหมู่บ้าน เพื่อมาฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานในการตรวจดิน แผนที่ดิน และเทคนิคการพัฒนาดิน พวกเขาเหล่านั้นจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับการจัดการดินอย่างถูกต้อง ซึ่งหมอดินอาสาจะเป็นผู้กระจายข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินไปยังหมู่บ้านต่างๆ และถ่ายทอดปัญหาเกี่ยวกับการใช้ที่ดินจากเกษตรกรกลับมายังกรมพัฒนาที่ดิน
ดังนั้น โครงการอบรมหมอดินอาสาเพื่อพัฒนาหมอดินอาสาให้เป็น Smart farmer ด้วยการนำเอาสื่อดิจิทัลมาปรับใช้ จึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทางกรมพัฒนาที่ดิน จึงจับมือร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สถานีวิทยุ ม.ก.) และมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการโรงเรียนหมอดินอาสาทางอากาศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการอบรบรูปแบบใหม่ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สู่การดำเนินงานขับเคลื่อน Smart farmer เพื่อการพัฒนาศักยภาพของหมอดินอาสาด้านการเกษตร ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลคลังความรู้หมอดินอาสาได้อย่างต่อเนื่อง”
ทางด้าน ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุ ม.ก. และในฐานะกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า “การดำเนินงานโครงการนำร่องโรงเรียนหมอดินอาสาทางอากาศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย สถานีวิทยุ ม.ก. มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมพัฒนาที่ดิน ในการพัฒนาแนวทางการอบรบรูปแบบใหม่สู่การดำเนินงานขับเคลื่อน Smart farmer โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่ในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่างหลักสูตร และกำกับดูแลเนื้อหา ในด้านของสถานีวิทยุ ม.ก. มีหน้าที่ผลิตและเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน จำนวน 20 ตอน ตอนละ 25 นาที โดยออกอากาศระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งหมอดินอาสา จะสามารถเข้าเรียนได้ตามเวลานัดหมาย ผ่านช่องทางการเผยแพร่ ที่สามารถรับชมได้ทั้งภาพและเสียง ผ่านทาง Mobile Application, Facebook Live, YouTube Live และเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ที่ออกอากาศทั้ง 4 ภูมิภาค ในระบบ AM Stereo โดยมีนักเรียนที่เป็นหมอดินอาสา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมอบรมและทำแบบทดสอบประเมินผลการอบรมผ่าน และได้รับประกาศนียบัตรทั้งหมด 40 คน สำหรับในด้านของมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดตั้งและดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อต้องการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นกำลังของประเทศต่อไป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในนโยบายของมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”
สำหรับการดำเนินโครงการนำร่อง “โรงเรียนหมอดินอาสาทางอากาศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)” ในครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องข้อมูลดิน การตรวจวิเคราะห์ดิน การจัดการดิน และธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก และสร้างความเข้าใจในการพัฒนาที่ดินให้แก่หมอดินอาสา จนสามารถถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ไปยังเกษตรกรและชุมชนได้ โดยมีเป้าหมายให้หมอดินอาสา ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการพัฒนาที่ดิน ผ่านการรับฟัง-รับชมทางเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก. ทำให้สามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเป็นการขยายฐานกลุ่มผู้ฟังทางเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก. และสื่อออนไลน์อย่างแพร่หลายและกว้างขวาง และเพื่อเป็นโครงการนำร่องในการขยายโครงการลงพื้นที่อื่นต่อไป ซึ่งมีเครือข่ายหมอดินอาสาอยู่ทั่วประเทศ อีกทั้ง เพื่อเป็นการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น