ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” ฉลองครบรอบ 19 ปี
ย้อนหลังกลับไปในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณสามปี พ.ศ.2547-2549 สนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีต่อมาสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยกฐานะห้องปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศวฮ.) ภายหลังมีการกำหนดให้วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 เป็นวันถือกำเนิด ศวฮ.
พันธกิจสำคัญที่ ศวฮ.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเวลานั้นคือวิจัย พัฒนาและบริการงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สังคม เศรษฐกิจและวิชาการของประเทศ พัฒนาบุคคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ฮาลาล และสนับสนุน ร่วมมือ สร้างเครือข่ายกับองค์กรศาสนาอิสลาม สถาบันวิชาการและหน่วยงานอื่นทั้งในและต่างประเทศ ด้วยปณิธาณที่ว่านำวิทยาศาสตร์ฮาลาลสู่อัตลักษณ์ประเทศไทย ศวฮ.ได้ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทยตลอดมา กระทั่งเข้ารับรางวัลระดับนานาชาติจากนายกรัฐมนตรี สหพันธรัฐมาเลเซียใน พ.ศ.2549 และได้รับการยกย่องว่าคือสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก
ศวฮ.เติบโตขึ้นเป็นระยะ เปิดสำนักงานจังหวัดปัตตานีใน พ.ศ.2552 จังหวัดเชียงใหม่ใน พ.ศ.2555 พัฒนาห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลกระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และ ISO9001 ตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิจัยระดับนานาชาติ สร้างนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมฮาลาลหลายชิ้น พัฒนาระบบการมาตรฐานฮาลาลภายใต้ชื่อ HAL-Q หรือ Halal Assurance, Liability-Quality System ต่อยอดจากงาน Halal-HACCP ที่พัฒนาร่วมกับสถาบันอาหารใน พ.ศ.2543 จัดวางระบบในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวน 774 แห่งทั่วประเทศ สร้างการยอมรับกระทั่งทำให้ผลงานที่ชื่อ “HAL-Q นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาละครบวงจร” ได้รับรางวัลนวัตกรรมบริการที่เป็นเลิศภาครัฐระดับดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ใน พ.ศ.2556 ต่อมาได้รับรางวัลเดียวกันในระดับเดียวกันอีกครั้งใน พ.ศ.2563 กับผลงาน “H numbers นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำเพื่ออุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งอนาคต” อันเป็นครั้งแรกในโลกกับการพัฒนาฐานข้อมูลบัญชีวัตถุดิบฮาลาล
เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 19 ปีในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2565 ศวฮ. เห็นว่างานสำคัญคือการถ่ายทอดความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมไทย ศวฮ.จึงร่วมกับมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺจัดสร้าง “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” (The Halal Innovation Community Learning Center หรือ HICOLEC) ขึ้นบนพื้นที่ 4 ไร่ 1 งานของมูลนิธิ ณ ตำบลชุมพล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นอาคารต่างๆ เพื่อพัฒนางานนวัตกรรมฮาลาล จัดทำศูนย์เรียนรู้สำหรับชุมชนรวมถึงโรงเรียนสอนคิด (Thinking school) สำหรับเด็กและเยาวชน
ในวันครบรอบการจัดตั้งศูนย์ฯ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2565 ศวฮ.ได้รับเกียรติจาก นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครนายก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชุมพล อบต.บึงศาล อบต.พระอาจารย์ แห่งอำเภอองครักษ์ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานและผู้มีเกียรติอีกมากมายที่เข้าร่วมกิจกรรม “เดิน-วิ่ง HALAL SCI FUN RUN 2022” ร่วมกันทำพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” พร้อมกับเปิดอาคารเอร์ฟาน-ยุพา ดะห์ลัน อย่างเป็นทางการ
“ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” จักใช้ศักยภาพของนักวิชาการ ศวฮ.ในการดำเนินงานร่วมกับชุมชนเพื่อนำองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาชุมชน นำทฤษฏีสู่การปฏิบัติ เน้นงานพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมและการเกษตรฮาลาล เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงร่วมกับมูลนิธิในการพัฒนาเยาวชนของชาติ สร้างคนคุณภาพป้อนแก่สังคม อันเป็นความมุ่งมั่นของทั้ง ศวฮ.และมูลนิธิ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ในฐานะผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง ศวฮ.และประธานมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺกล่าวปิดท้าย