‘รมช.มนัญญา’ ลุยกระบี่ เดินหน้าแจกต้นกัญชา หนุนเกษตรกรปลูก สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดกระบี่ พร้อมทั้งเป็นประธานพิธีเปิด “โครงการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกกัญชา 1 ล้านต้น” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดกระบี่ ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ว่า ปัจจุบันกัญชาเป็นพืชที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจครัวเรือน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตรจึงส่งเสริมให้ประชาชนที่มีความสนใจปลูกพืชกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และรองรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมพัฒนาพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม ที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศไทย และจะนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมต่อไป

โอกาสนี้ รมช.มนัญญา ได้มอบใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืช GAP ให้กับเกษตรกรจำนวน 10 ราย มอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรชีวภาพ-ชีวภัณฑ์ จำนวน 10 ราย และมอบต้นกล้ากัญชาให้กลุ่มเกษตรกร จำนวน 2,000 ต้น จากนั้น เยี่ยมชมนิทรรศการกัญชง กัญชา และกระท่อม เยี่ยมชมงานแสดงสินค้ามาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้พืชแบบผสมผสาน และการขยายผลเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ย และร่วมปลูกต้นกัญชา พันธุ์พื้นเมืองหางกระรอก ร่วมกับผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนต่างๆ

รมช.มนัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้ผลิตผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืชและเทคโนโลยีด้านการเกษตรเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้สนองงานตามโครงการพระราชดำริในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่และศูนย์เรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยนำผลงานวิจัยด้านพันธุ์พืช และเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาประยุกต์ไว้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่แต่ละท้องถิ่น ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้หน่วยงาน ในส่วนภูมิภาคในแต่ละเขตจัดทำแปลงสาธิตศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น ประกอบด้วย 1. ศูนย์เรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบผสมผสาน เป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรผู้สนใจทั่วไป อบรมเกษตรกรหลักสูตรการผลิตพืชแบบผสมผสาน รวมทั้งขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดีส่งเสริมแก่เกษตรกร สนับสนุนปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศในกิจกรรมต่าง และ 2. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ พื้นที่ 60 ไร่ โดยรวบรวมพันธุกรรมพืชสมุนไพร เครื่องเทศ พันธุ์พืช ท้องถิ่นและพืชหายาก ในพื้นที่ของภาคใต้ ตลอดจนพืชที่มีความสำคัญของประเทศมาปลูกรักษาพันธุกรรม .