เศรษฐกิจชะลอตัวราคายางไม่พุ่งเหมือนน้ำมัน เอกชนสวนกระแสลงทุนเพิ่ม/มั่นใจอนาคตสดใส

เอกชนออกโรงชี้แจงสาเหตุราคายางไม่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในช่วงนี้ เพราะพิษเศรษฐกิจชะลอตัว เกิดภาวะสงคราม อัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ยางไม่เพิ่มขึ้น มั่นใจหลังสงครามยุติราคายางสดใดแน่นอน ส่วนราคาน้ำยางสดที่ลดลง เป็นแค่การปรับราคาให้สมดุลกับความเป็นจริง ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น คาดจะเข้าสู่ภาวะปกติเร็วๆนี้
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทนอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางพาราว่า ขณะนี้ราคายางค่อนข้างทรงตัว แม้ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น แต่ความต้องการใช้ยางไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มากระทบซ้ำเดิมอีก จึงทำให้ปริมาณความต้องการใช้ยางลดลง ราคายางธรรมชาติจึงไม่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตามราคาในปัจจุบันถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ปริมาณความต้องการใช้ยางกับปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณสมดุลใกล้เคียงกัน ราคายางจึงเคลื่อนไหลในช่วงแคบๆ โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ซึ่งเป็นราคากลางมาตรฐานที่ใช้อิงในการกำหนดราคายางประเภทต่างๆ ในปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับสูงกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม
“จริงๆแล้วราคายางแผนรมควันชั้น 3 ในปัจจุบัน น่าจะต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัมด้วยซ้ำ แต่ปริมาณยางจากประเทศอินโดนีเซียออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากการะบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ ทำให้สวนยางเสียหายไปกว่า 3 ล้านไร่ ผลผลิตของอินโดนีเซียลดลงประมาณ10% ประกอบกับนโยบายลดปริมาณการปลูกยางของแต่ละประเทศ ทำให้พื้นที่ปลูกยางมีจำนวนจำกัด ปริมาณยางออกสู่ตลาดจึงไม่มากใกล้ดคียงกัยปริมาณความต้องการซื้อ ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 จึงปรับตัวไม่มาก ยังอยู่ในระดับมากกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม” นายชูวิทย์กล่าว
ส่วนราคาน้ำยางสดที่ลดลงจากระดับ มากกว่า60 บาทต่อกิโลกรัม เหลือประมาณ 51 บาทต่อกิโลกรัมในขณะนี้นั้น เป็นการปรับตัวตามสภาวะความเป็นจริง ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาน้ำยางสดที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 เนื่องจากการะบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงกระจายทั่วโลก ทำให้ความต้องการน้ำยางสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือแพทย์เพิ่มขึ้นถึง 25% ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางขายน้ำยางได้ราคา แต่ในปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มีความต้องการใช้น้ำยางสดลดลง ราคาจึงปรับตัวลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน้ำยางสดจะมีราคาถูกว่ายางแผ่นรมควันชั้น3 ประมาณ 8-10 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ยางในอนาคตนั้น หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สงครามยุติลง อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคเอกชนเชื่อว่า สถานการณ์ยางจะสดใสราคายางจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การบูรณประเทศของยูเครนจะต้องใช้ยางจำนวนมาก เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารามากที่สุดประมาณ 50% ของปริมาณยาง จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เพราะอั้นมาเป็นระยะเวลายางนาน ดังนัั้นความต้องการใช้ยางจะพุ่งอย่างแน่นอน ในขณะที่ปริมาณยางมีจำนวนจำกัด จะเห็นได้จากขณะนี้หลายบริษัทกล้าที่จะลงทุนเพิ่ม
ด้านนายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราคาน้ำยางสดที่ผันผวนในขณะนี้ เป็นสถานการณ์เฉพาะช่วงเวลาเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย การใช้ถุงมือยางซึ่งให้น้ำยางสดเป็นวัตถุดิบลดลง ราคาจึงปรับตัวลดลง แต่น่าจะเป็นระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น เพราะราคายางแห้ง ไม่ว่าจะเป็นยางแผ่น ยางแท่ง ราคายังปกติไม่ผันผวน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับยางสังเคราะห์ หรือราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามถ้าหากราคาน้ำยางสด มีราคาลดลงมาก เกษตรกรก็จะปรับตัวไม่ขายน้ำยาง หันไปแปรรูปขายเป็นยางแผ่น ยางแท่ง แทนซึ่งได้ราคาดีกว่า ดังนั้นสถานการณ์ราคาน้ำยางสดที่เกิดขึ้นอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ภาวะปกติด้วยกลไกทางการตลาด และขึ้น-ลงไม่ผันผวนเช่นเดียวกับยางประเภทอื่นๆอย่างแน่นอน
ส่วนสถานการณ์ยางในอนาคตนั้น ภาคเอกชนมั่นใจว่าราคาจะมีเสถียรภาพราคาบวก-ลบไม่เกิน 15% เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ยางยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดที่สมดุลกับความต้องการใช้ ยิ่งถ้าหากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุติความต้องการใช้ยางจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางมั่นใจได้ว่า อาชีพการทำสวนยางนั้นยังมีความมั่นคง ราคายางมีแนวโน้มสดใสอย่างแน่นอน