วิสาหกิจชุมชนผลิตผักเหมียงแปลงใหญ่อำเภอเมืองภูเก็ต โชว์มาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ยกระดับคุณภาพสินค้า บรรลุเป้าหมายเกษตรแปลงใหญ่

   นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนผลิตผักเหมียงแปลงใหญ่อำเภอเมืองภูเก็ต เกิดจากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในปี พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองภูเก็ตประชาสัมพันธ์รับสมัครเกษตรกรที่ปลูก

ผักเหมียงเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 36 ราย พื้นที่ 98.5 ไร่ มีการวางแผนด้านการจัดการแปลง เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต การตลาด การบริหารจัดการ ผ่านเวทีกิจกรรมการวิเคราะห์จัดทำแผนและปรับปรุงข้อมูล เพื่อกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน ซึ่งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้อง
นายปรีชา นาคดำ ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตผักเหมียงแปลงใหญ่อำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวว่า กลุ่มได้มีการบริหารจัดการตามกิจกรรมของแผนที่วางไว้ เพื่อดำเนินการในเรื่องการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด การบริหารจัดการกลุ่ม มีการประสานงานเพื่อนัดประชุมร่วมกันผ่านช่องทางการสื่อสารทางโทรศัพท์หรือไลน์กลุ่ม (LINE) และบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่กลุ่มยังขาดองค์ความรู้หรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้กลุ่มสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทางกลุ่มมีการลดต้นทุนการผลิตจากเดิม 5,800 บาท ต่อไร่ต่อปี คงเหลือ 5,220 บาท ต่อไร่ต่อปี โดยการให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องการผลิตและการรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยหมัก การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในแปลง และร่วมกันทำกองปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ณ บริเวณศูนย์จัดการดินปุ๋ยุชมชนตำบลฉลอง (ศดปช.) การผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา การผลิตและใช้แมลงหางหนีบ สามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นมา 20% จากเดิมผลผลิต 250 กก. ต่อไร่ต่อปี เป็น 300 กก. ต่อไร่ต่อปี และมีการขยายเพิ่มพื้นที่ปลูก โดยขยายกิ่งพันธุ์ผักเหมียงมาปลูกในแปลง และการขยายพื้นที่ปลูกผักเหมียง
ซึ่งได้รับการสนับสนุนต้นพันธุ์ การจัดทำระบบน้ำ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องการผลิตผักเหมียงเชิงการค้า ภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตด้วยแนวคิด City of gastronomy กิจกรรมส่งเสริมการปลูกผักเหมียงเชิงการค้า กลุ่มแปลงใหญ่มีเกษตรกรต้นแบบผลิตผักเหมียงเชิงการค้าที่ได้ผลิตตามมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร และเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) เป็นต้นแบบในการผลิตของสมาชิกให้มีมาตรฐานความปลอดภัยพืชที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP โดยให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีตามมาตรฐาน GAP และเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วทุกแปลง
นอกจากนี้ในด้านการตลาด มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการเชื่อมโยงตลาด โดยยกระดับคุณภาพสินค้าให้เป็นสินค้าปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) และสร้างแบรนด์วิสาหกิจชุมชนฯ
พัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยจัดทำถุงบรรจุขนาด 5 กิโลกรัม และขนาด 200 กรัม ประชาสัมพันธ์ช่องทางต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ขยายตลาดจำหน่ายไปยังห้างสรรพสินค้า เช่น ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ภูเก็ต โรงแรมและร้านอาหารต่างๆ ในจังหวัด เช่น โรงแรมเมอร์เคียวป่าตอง และส่งจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต รวมทั้งพ่อค้ามารับซื้อ หรือ การออกร้านจำหน่ายในการจัดงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อกระจายผลผลิตของสมาชิก สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง