ประเดิม “อย.ชุมชน” สร้างเสร็จ “นายกอุ๊” เมืองกรุงเก่า เผย มีออเดอร์ขนมไทยโอทอปทันที 170,000 ชิ้น ชี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ “นายกอุ๊” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อ. มหาราช จ พระนครศรีอยุธยา ทีมเศรษฐกิจพรรคกล้า ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บุกเบิกตลาดโอท็อปชุมชน พุทธอุทยานหลวงปู่ทวด เปิดเผยว่า แม่ค้า “ร้านขนมไทยวัยทีน” ในตลาดหลวงปู่ทวด แจ้งว่า บริษัท PT Max mart ได้ติดต่อมาว่า สนใจซื้อขนมไทยของทางร้าน เพื่อนำไปจำหน่ายในร้านกาแฟพันธุ์ไทย ทั่วประเทศ จึงขอมาดูความพร้อมและกำลังการผลิต ซึ่งหลังจากที่ได้มาดูห้องผลิตสินค้ามาตรฐานชุมชน หรือที่เรียกว่า อย.กลาง หรือ อย.ชุมชนนั้น เขาตัดสินใจเซ็นต์สัญญาทันที และสั่งออเดอร์ขนม 170,000 ชิ้น ซึ่งเท่ากับการขายหน้าร้านและในทุกช่องทางของแม่ค้ารายย่อยถึงเกือบสองปี เป็นการฉลองการสร้าง อย.กลางเสร็จพอดี

นายกอุ๊ กล่าวว่า ห้องผลิตสินค้ามาตรฐานชุมชน ต.บ้านใหม่ ถือเป็นที่แรกและที่เดียว ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนท้องถิ่นในระดับ อบต. ที่อื่นเท่าที่ทราบก็ยังไม่มี โดยหลักการคือผู้ประกอบการตัวเล็ก ชาวบ้าน นักศึกษาจบใหม่ หรือคนทั่วไป ที่ต้องการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มาตรฐานอาหารและยา ปัญหาคือ สถานที่ผลิต เครื่องมือ เครื่องจักรที่มีมาตรฐาน รวมถึงอาคารสถานที่ ก็ไม่มี เนื่องจากมีต้นทุนที่แพง จึงทำให้หมดโอกาส ในการลืมตาอ้าปากต่อไปได้ รัฐบาลเองแม้จะพยายามช่วยผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานสินค้า ช่วยให้คนมีอาชีพ มีรายได้ มันก็จะไปติดด่านพวกเหล่านี้ เพราะต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก ใครที่มีกำลังทำเองได้ ธนาคารก็อาจจะให้กู้เงิน แต่ถ้ากู้มาแล้ว ผู้ประกอบการลงทุน 1-2 ล้านบาท ยังไม่รวมการผลิตสินค้าอีก เกิดสินค้าไปต่อไม่ได้ ตลาดไม่ตอบรับ ก็เจ๊งทันที

“ถ้ามีผลิตภัณฑ์ส่วนตัว100 รายการ ก็ต้องใช้เงิน หลายร้อยล้านบาท ต่อราย และถ้ารวมทั้งประเทศ มีเป็นหมื่นผลิตภัณฑ์ก็เท่ากับต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท แต่ถ้าเราทำห้องปฏิบัติการชุมชนแบบนี้ขึ้นทั่วประเทศ อาจจะใช้เงินแค่ 2-3 ล้านบาทต่อแห่ง โดยรัฐเป็นผู้ลงทุน ประชาชนสามารถมาใช้งานได้ ทั้งเพื่อทดลองผลิต ทดลองตลาด คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ก็สามารถมาใช้ได้ ชาวบ้านเพียงแค่เอาวัตถุดิบกับฝีมือมา สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก เพราะมีเครื่องจักรพร้อม และฝึกฝนทักษะการใช้เครื่องมือให้ชาวบ้านด้วย สินค้าได้มาตรฐาน มีเลข อย. จะทำให้เกิดการยกระดับ พัฒนาคุณภาพสินค้า และบริการ ของประชาชน ในระดับชุมชนได้อย่างแท้จริง” นายกอุ๊ กล่าว

นายวัชรพงศ์ ยังบอกด้วยว่า เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อม ห้างร้าน ผู้ซื้อต่าง ๆ ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ก็จะตัดสินใจที่จะมาซื้อได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่อยากช่วยชาวบ้าน แต่เพราะชาวบ้านไม่พร้อม การผลิตไม่ได้มาตรฐาน และไม่สามารถผลิตในปริมาณมากได้ จะหาตลาดให้ก็เสี่ยงเกินไป จึงทำให้ดูเหมือนเขาไม่ช่วย อย่างไรก็ตามเราต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย รัฐบาลต้องช่วยให้ถูกจุดในสิ่งที่เขาต้องการและมีความยั่งยืน คือความเท่าเทียมกับเป็นธรรมทุกฝ่าย

สำหรับเจ้าของออเดอร์ขนมไทย 170,000 ชิ้นคือ นางสาวแก้วตา เดชธนู เจ้าของ “ร้านขนมไทยวัยทีน” โดยปกติจะเปิดจำหน่ายอยู่ที่ตลาดหลวงปู่ทวด เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัท PTT Max mart กำลังหาขนมไทยเพื่อนำไปจำหน่ายในร้านกาแฟพันธุ์ไทย ทั่วประเทศ จึงได้สอบถามไปทาง กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และแจ้งความประสงค์ว่าต้องการขนมไทยไปแต่งหน้าเค้ก จากนั้น พช.ก็ติดต่อมาทางร้านของเรา เพื่อนัดเข้ามาดูสินค้า กระบวนการผลิต และกำลังการผลิต จึงได้มีการส่งตัวอย่างให้ดูและลองชิม และเมื่อทางบริษัทฯ ได้มาดูพื้นที่จริง และดูกำลังการผลิต ก็ตัดสินใจออเดอร์ขนมฝอยทองกรอบจำนวน 170,000 ชิ้น ในราคาส่งชิ้นละ 5 บาท จากปกติขายหน้าร้านชิ้นละ 10 บาท โดยทำการผลิตและส่งล็อตแรก 72,000 ชิ้น ในวันที่ 30 มิถุนายน และอีก 12,000 ชิ้น ในวันที่ 4 กรกฎาคม จากนั้นก็ทยอยส่งที่เหลือจนครบภายใน 2 เดือน

นางสาวแก้วตา กล่าวว่า โดยปกติแล้วก็จะสามารถขายได้เรื่อย ๆ และจะขายเป็นฝอยทองสด แต่บริษัทฯ ต้องการฝอยทองกรอบ จึงได้ทดลองทำโดยใช้ตู้อบ และเครื่องจักรของห้องปฏิบัติการชุมชนทำการผลิต และจ้างคนงาน ซึ่งเป็นคนในชุมชน เข้ามาช่วยกันทำและแพคของ โดยในช่วงนี้จะปิดหน้าร้านไว้เนื่องจากต้องทุ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ทันล็อตแรก ส่วนค่าใช้จ่ายนั้น ก็จะจ่ายให้กับทาง ห้องปฏิบัติการวันละ 300 บาท เป็นค่าไนโตรเจน และค่าเครื่องจักรผลิต และค่าคนงานวันละ 320 บาทต่อคน จำนวนประมาณ 10 คน สำหรับกระบวนการผลิตก็เริ่มจาก การทำฝอยทองสด จากนั้นนำมาลงบล็อก เข้าเครื่องอบ นำไปผึ่งเย็น และลงกล่องเพื่อรอแพคถุง ซึ่งเป็นถุงใสธรรมดาไม่ต้องออกแบบแบรนด์หรือทำแพคเกจจิ้ง เนื่องจากทางกาแฟพันธุ์ไทยจะนำไปท็อปปิ้งแต่งหน้าเค้กกาแฟ ไม่ได้วางขายทั่วไป หลังจากนี้ก็จะมีการประเมินผลประกอบการ เพื่อทำการสั่งต่อเนื่องต่อไป

นายกอุ๊ กล่าวเพิ่มเติมว่า ห้องผลิตสินค้าชุมชนดูเหมือนจะธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะสามารถช่วยเศรษฐกิจระดับฐานราก ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ ชาวบ้านต้องดิ้นรนขวนขวายพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ให้มีความสามารถในการผลิตสินค้า ส่วนมาตรฐานต่าง ๆ ภาครัฐในการช่วยสนับสนุนเรื่องอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ การออกแบบดีไซน์ การพัฒนาคุณภาพ รสชาติอาหาร และความต้องการของตลาด ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย องค์กรต่าง ๆ สามารถช่วยได้ ฝ่ายการตลาด ห้างร้านต่าง ๆ ผู้ซื้อ ก็สามารถจะมาออเดอร์และสั่งได้ ว่าควรจะผลิตสินค้าประเภทไหน เป็นการหาตลาดก่อนการผลิต ไม่ใช่ผลิตแล้วหาตลาด เป็นการลดปัญหาเรื่องการผลิตแล้วขายไม่ได้ลง ถ้าขยายผลไปในระดับตำบล ท้องถิ่น อบต.ต่าง ๆ ที่พร้อมสามารถทำเรื่องนี้ได้ เพราะอบต.จะรู้จักชาวบ้านดี ก็สามารถใช้งบท้องถิ่นได้เลย สามารถช่วยชาวบ้านได้ได้หลายพันหลายหมื่นคน ที่สามารถเข้ามาใช้บริการ แล้วถ้ามีห้องปฏิบัติการชุมชนทั่วประเทศ มาตรฐานสินค้าเราก็จะสูงขึ้นในภาพรวม โอกาสที่ชาวบ้านจะขายของได้มีมากขึ้น คนจะลืมตาอ้าปากได้ โดยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและของรายได้ลง

“เราพร้อมเป็นโมเดล ให้ขยายผลได้ทั่วประเทศ และผมในฐานะที่เป็นทีมเศรษฐกิจพรรคกล้า ก็จะนำโมเดลนี้เป็นนโยบายของพรรค เนื่องจากมีความตั้งใจที่จะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยอยู่แล้ว และจะเป็นตัวเสริมว่า การช่วยเหลือคนตัวเล็กให้ลืมตาอ้าปากได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นเรื่องที่จับต้องได้ มีตัวชี้วัด มีคนที่ทำแล้วได้เงินจริง มีออเดอร์จริง และในขณะนี้ก็เริ่มมีหลายหน่วยงานเริ่มเข้ามาแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนทุนแล้วด้วย” นายกอุ๊ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับห้องผลิตสินค้ามาตรฐานชุมชนนี้ พื้นที่อาคารเป็นอาคารโอทอปของกรมการพัฒนาชุมชน ส่วนงบประมาณในการต่อยอดมาจากงบของอบต.บ้านใหม่มหาราช อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ในการกั้นห้องและเติมในส่วนของวัสดุอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆที่ต้องใช้โดยมีเครือข่ายโอทอปเทรดเดอร์ประเทศไทยประสานงานในการดูแลร่วมกับผู้ประกอบการโอทอป ซึ่งจะเรียกว่า “ห้องอย.กลางระดับชุมชน”ก็ได้ โครงการนี้จะเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าชุมชนทั่วประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งและเดินหน้าต่อได้ไม่ตัน