กรมส่งเสริมการเกษตรผลักดันแปลงใหญ่ผักพังงาสู่ครัวอันดามัน นำร่อง 4 อำเภอ สร้างต้นแบบการเรียนรู้
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ไปตรวจราชการในเขตภาคใต้ ได้เห็นถึงศักยภาพของเกษตรกรซึ่งเป็น Young Smart Farmer ในเขตตำบลถ้ำน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ที่ได้ทำกิจกรรมโรงเรียนเกษตรกร มีการปลูกผักเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้และมีตลาดรองรับ น่าจะสามารถเป็นต้นแบบขยายผลให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผักรายอื่นในจังหวัดได้ จึงเกิดแนวคิดที่จะให้มีการพัฒนาต่อยอดจังหวัดพังงาเป็นครัวอันดามัน และได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกผักของจังหวัดพังงาผ่านระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ผักจังหวัดพังงาขึ้น และรายงานความก้าวหน้าให้ทราบเป็นระยะนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาจึงได้มีการประชุมชี้แจงแนวทางการจำหน่ายพืชผักในห้างสรรพสินค้าขึ้น โดยนำตัวอย่างของกลุ่มแปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาเป็นโมเดลการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักจังหวัดพังงา พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดข้อกำหนดของพืชผักที่จะสามารถนำเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าได้ โดยจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุผักจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ด้วย นอกจากนี้ยังมีการประชุมติดตามความก้าวหน้าและรับฟังปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินงานจากเกษตรกรสมาชิกและผู้รับซื้อผลผลิต ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุปให้เกษตรกรสมาชิกทดลองปรับเปลี่ยนมาปลูกชนิดผักที่เป็นที่ต้องการของตลาดและมีการรับซื้อในปริมาณมาก เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ตะไคร้ พริกทุกชนิด บวบ ผักชี ขึ้นฉ่าย ชะอม และกวางตุ้งไต้หวัน โดยเฉพาะชะอมที่มีราคาจำหน่ายสูงถึงกิโลกรัมละประมาณ 90 บาทตลอดทั้งปี
ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาได้ประชุมจัดทำแผนขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ Young Smart Farmer และดำเนินการประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครเกษตรกรที่มีความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ผัก จังหวัดพังงา ในพื้นที่ 4 อำเภอต้นแบบ ได้แก่ อำเภอเมืองพังงา อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอท้ายเหมือง เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ปลูกผักในการรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการ และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ฝั่งอันดามันอีกด้วย
“สำหรับความก้าวหน้าในด้านการบริหารจัดการแปลงใหญ่ผักจังหวัดพังงา นำร่องในพื้นที่ 4 อำเภอ ขณะนี้มีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมแล้วจำนวน 112 ราย แยกเป็น อำเภอเมือง จำนวน 20 ราย อำเภอทับปุด จำนวน 30 ราย อำเภอตะกั่วป่า 32 ราย อำเภอท้ายเหมือง จำนวน 32 ราย โดยในส่วนของการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปนั้น สำนักเกษตรอำเภอแต่ละแห่งจะมีการสำรวจจัดทำข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกผักในพื้นที่ พร้อมสำรวจเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่ผักเพิ่มเติม โดยให้แกนนำเกษตรกร และแกนนำเกษตรกร (YSF) ในแต่ละพื้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ และแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ผัก เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลต่อไป จากนั้นจะจัดให้มีการประชุมขับเคลื่อนโครงการฯ เดือนละ 1 ครั้ง ให้สำนักเกษตรอำเภอรายงานความก้าวหน้าโครงการฯ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมทั้งประสานติดต่อจุดรับซื้อผลผลิต และเชื่อมโยงการซื้อขายผลผลิตให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพังงาให้ใช้สถานที่ในการสร้างโรงบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐาน GMP โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาได้ประสานเตรียมการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรเข้ามาดำเนินการแล้ว พร้อมทั้งให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้ามาร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมดังกล่าวด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า การดำเนินงานในปี 2565 เน้นไปที่การพัฒนาด้านลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรสู่ Smart Farmer และความเข้มแข็งของเกษตรกลุ่ม/องค์กรวิสาหกิจชุมชน การทำตลาดและการเชื่อมโยง และต่อยอด ส่งผลดีต่อเกษตรกร/คน พื้นที่ สินค้า ภาครัฐ และอื่น ๆ โดยรายละเอียดเงื่อนไขในการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ ได้แก่ 1) เกษตรกรสมัครใจรวมกลุ่ม เข้าร่วมดำเนินการ โดยเป็นการรวมแปลงผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน โดยที่ที่ตั้งแปลงไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกันเป็นผืนเดียว แต่ควรอยู่ภายในชุมชนที่ใกล้เคียงกัน 2) ขนาดพื้นที่และจำนวนเกษตรกร ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร หรือพืชอื่น ๆ มีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ หรือเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 30 ราย