กศน.- ม.ราชภัฏสุรินทร์ รับลูก ทำหลักสูตรอนุรักษ์ภูมิปัญญาสมุนไพรอีสานใต้ ต่อชีวิตหมอพื้นบ้าน สร้างความมั่นคงทางสมุนไพร ไม่ให้สูญหายไปชั่วนิรันดร์

ภายหลังการเปิดศูนย์ศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาสมุนไพรอีสานใต้ โดยมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับภาคีเครือข่ายท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) คุณพ่อชอย สุขพินิจ แพทย์แผนไทยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยภาคีเครือข่ายฯ จะได้ร่วมกันพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเชื่อมต่อกับระบบการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างไร้รอยต่อ

นายเกษม แสนโภชน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจแทนประชาชนชาว จ.สุรินทร์ จำนวน 138,000 คน ที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มาตั้งศูนย์ฯ ที่นี่ ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางของ อิสานใต้ เพื่อศึกษา พัฒนา และอนุรักษ์พืชพรรณสมุนไพร ให้คงอยู่สืบไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง คนยากจนลง การจะดำรงชีวิตอยู่ได้นอกจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ก็ต้องอาศัยแพทย์แผนไทยเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนด้วย ศูนย์ฯแห่งนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพอนามัยที่ดี อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ แห่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดคุณอาริยา โมราษฎร์ และครอบครัว ที่ได้บริจาคพื้นที่จำนวน 17 ไร่เศษพร้อมอาคารอีกประมาณ 10 หลัง เพื่อร่วมกันศึกษาอนุรักษ์ป่าชุมชนให้คงอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวอิสานใต้และคนไทยทั้งประเทศ
นางสาวทรงศรี วิริยะรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการสำนักงาน กศน. กล่าวว่า รู้สึกยินดีแทนชาวอิสานใต้ ที่จะมีแหล่งสมุนไพรให้คนได้ศึกษาหาความรู้ อย่างไรก็ตามในส่วนของ กศน. ด้วยความที่สมุนไพรเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ เด็ก นักศึกษา หรือแม้แต่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ก็ยังไม่ได้เข้าไปศึกษาอย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันสมุนไพรหลายชนิดที่เคยอยู่คู่กับวิถีชุมชนท้องถิ่น ก็เริ่มหายาก ท่าน รมช.ศึกษาธิการ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ ได้สั่งการให้ทาง กศน. เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ทำอย่างไรกับสมุนไพรที่จะสูญพันธุ์ได้ขยายพันธุ์ต่อ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและไม่เป็นอันตราย ซึ่ง กศน.จะดำเนินการนำองค์ความรู้ จากหมอพื้นบ้านและกลุ่มของผู้ที่ทำเรื่องสมุนไพรมาสรุปเป็นองค์รวม บันทึกเป็นหลักสูตร สำหรับครู นักศึกษา ประชาชน ได้ศึกษาและเผยแพร่ต่อไป โดยมีศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาโดยมีหมอพื้นบ้านเป็นผู้ให้ความรู้
ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โดยส่วนตัวได้เก็บความรู้สมุนไพรทั้ง 4 ภาค นำมาทำยา และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้พบว่า ห้องทดลองที่เรียกว่าโลก มีหนูตะเภาที่เรียกว่ามนุษย์ ทดลองมาหลายชั่วอายุคน แต่ไม่ได้รับการรับรอง ทั้งที่เราไม่สามารถแยกต้นไม่ออกจากชุมชน ออกจากป่าได้ ขณะนี้ หมอยาอิสานใต้ อาจมีคนสุดท้ายอีกไม่กี่คน ถ้าเราไม่ถอดความรู้เก็บรักษาไว้ตั้งแต่วันนี้ ก็จะทำให้หมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ของชาติ เป็นเสมือนกุญแจสำคัญ ก็จะจากไปชั่วนิรันดร์ ดังนั้นเราจะต้องทำให้ดำรงอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่ต้นสองต้นแต่เป็นระบบนิเวศน์ และส่งต่อความรู้ไปยังคนรุ่นต่อไป
“โดยส่วนตัวได้ทำงานร่วมกับคุณอาริยา มา 30 ปี ได้เห็นความตั้งใจของเขาที่อยากอนุรักษ์หมอยาพื้นบ้าน และสมุนไพรไม่ให้สูญพันธุ์ และได้ มรภ.สุรินทร์ และชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมเข้ามาจดบันทึกทำความรู้ให้ชัดเจน เพื่อเป็นต้นทุนที่จะทำให้หมอยาพื้นบ้าน อยู่ในระบบสาธารณสุข ที่เมื่อเจ็บไข้ก็สามารถส่งต่อมายังหมอพื้นบ้าน และสามารถเบิกได้เหมือนร้านขายยา ทั้งนี้ก็ต้องชัดเจนในเรื่องของโรคและองค์ความรู้ที่ชัดเจน ซึ่งก็ยินดีมากที่ กศน. ได้เข้ามาร่วมทำหลักสูตรเพื่อสืบสานหมอพื้นบ้านให้ได้รับการรอง โดยอาจต้องมีการอบรมเพิ่มเติม และต่อยอดกับแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ของ มรภ.ที่มีอยู่แล้วได้” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว
พ่อชอย สุขพินิจ หมอพื้นบ้าน กล่าวว่า ในพื้นที่จ.สุรินทร์ มีต้นไม้ที่เด่นหลายชนิด เช่น โลดทะนง เป็นยาถอนพิษ ปลาไหลเผือก แก้โรคมะเร็ง ฮังฮ้อน(พญาไฟ) เป็นยาร้อนใช้สำหรับหลังคลอดอยู่ไฟ พวกนี้เป็นสมุนไพรหายาก ที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้ และที่น่าเสียดายคือ ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู หาไม่ได้แล้ว ต้องสั่งจากภาคเหนือ ภาคใต้ มารักษาคนไข้ นอกจากนี้โรคบางชนิด ที่แผนปัจจุบันรักษาไม่ได้ ก็ต้องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเรื่องไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งได้มีการบันทึกชัดเจนว่ามีมาช้านาน นอกจากนี้การจะต่อยอดไปสู่รุ่นต่อไป ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นหมอยาได้ ต้องเป็นคนที่มีความตั้งใจ มีคุณธรรม ไม่ทำเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มาก
อาจารย์เสาวนีย์ กุลสมบูรณ์ นักวิชาการอิสระด้านการแพทย์พื้นบ้าน กล่าวว่า ประเทศไทยคือหนึ่งเดียวในอาเซียนที่เปิดโอกาสให้หมอพื้นบ้านเข้ามาเชื่อมต่อกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ทุนที่ดีของ จ.สุรินทร์มีมาก น่าจะเป็นแบบอย่างการผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์พื้นบ้านได้เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ เพราะมีองค์ความรู้ครบ สมบูรณ์ และจากการทำงานร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของ มรภ.สุรินทร์ พบว่า ขณะนี้หมอพื้นบ้านของสุรินทร์ ที่ได้ทำความร่วมมือ 19 สถาบัน รวบรวมหมอพื้นบ้านได้ถึง 140 คน นับได้เป็น 140 ภูมิปัญญาที่มีชีวิต เป็นต้นทุนที่ดีมาก ถ้าทุกคนทำความช่วยเหลือเก็บข้อมูล สภาวิชาชีพก็ประเมิน ก็เป็นหมอระดับหมอวิชาชีพซึ่งได้รับการรับรองไปแล้ว 6 คน เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน และอีก 140 คนกำลังเข้าสู่กระบวนการรับรอง
นอกจากนี้ จ.สุรินทร์ ยังเป็นพื้นที่ที่ร่วมรักษาระหว่างหมอพื้นบ้านกับหมอแผนปัจจุบัน ที่รพ.พนมดงรัก โดยได้มีการเก็บข้อมูลไว้ในทุกเคส รวมถึงที่ อ.กาบเชิง แพทย์แผนไทยทำงานร่วมกับ สหวิชาชีพ พัฒนายาหมอพื้นบ้านกว่า 20 ตำรับ ในจำนวนนี้ 6 ตำรับ เข้าสู่บัญชียาหลักและได้ใช้ใน รพ.กาบเชิงแล้ว และในภาวะวิกฤต รพสต.ใน อ.ลำดวน ก็ได้ปรุงยาสำหรับประชาชน และดีใจมากที่ กศน.ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเชื่อมความรู้ในระดับการศึกษานอกโรงเรียน ระดม พ่อหมอ แม่หมอ มาทำหลักสูตรพื้นฐานให้กับลูกหลานของเราต่อไป
ด้าน ผศ.กนก ไตสุรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า มรภ.สุรินทร์ เปิดสอนแพทย์แผนไทย จบไปแล้วหลายรุ่น เราพร้อมให้ความร่วมมือในการปลูก หนุนเสริม และมาเรียนรู้สมุนไพร และจัดทำหลักสูตร เพื่อกระจายองค์ความรู้ต่อไป ซึ่งนอกจาก สาขาแพทย์แผนไทยแล้ว สาขาอื่น ๆ เช่น สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ การจัดการ ก็สามารถเข้าร่วมด้วยได้
ด้านนายแพทย์ เอกชัย ผอ.รพ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า การจะเชื่อมต่อการรักษาของหมอพื้นบ้าน เข้าสู่ระบบบริการของสถานพยาบาลได้นั้น อย่างแรก ต้องทำให้คนรู้จักกัน เช่น หมอพื้นบ้านและคนที่จะทำงานด้วยกัน ไปร่วมเดินป่าศึกษาสุมนไพร อาจารย์ เภสัชกร และหมอพื้นบ้าน จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความเข้มแข็ง ยกระดับความรู้ของทั้งสองแหล่ง บูรณาการความรู้เข้าด้วยกัน และอยากให้นำตำรับองค์ความรู้หมอพื้นบ้านที่ได้รับการคัดเลือกว่าได้ผลและปลอดภัย นำมาใช้เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ต่อไป ทั้งนี้ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และมหาวิทยาราชภัฏสุรินทร์ จะเร่งดำเนินการหารือ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการนำองค์ความรู้สมุนไพรอีสานใต้ และศักยภาพของแพทย์พื้นบ้านเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในระบบบริการสุขภาพ และนำมาใช้อบรมให้กับนักศึกษา และหมอพื้นบ้านทีสนใจต่อไป