เปิดแผนธุรกิจ”สหกรณ์การเกษตรร้องกวาง” ชูจุดเด่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-เหนียวสันป่าตอง

  ผลพวงจากวิกฤติสถานการณ์โลกขณะนี้ทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดส่งผลกระทบต่อต้นทุนพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทันที  แม้รัฐบาลจะประกันราคาเป้าหมายอยู่ที่ 8.50 บาทก็ตาม ยิ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมามีมติให้ผ่อนปรนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภายใต้ข้อกำหนด WTO ได้ไม่เกิน 6 แสนตันหรือร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน ด้วยอัตราภาษี 0% เป็นระยะเวลา 3 เดือน(พ.ค.-ก.ค.) ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความวิตกกังวลเรื่องราคาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
   “ช่วงนี้ราคาข้าวโพด(เลี้ยงสัตว์)ขึ้น สหกรณ์รับซื้อหน้าโรงงานอยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกรัมที่ความชื้นไม่เกิน14% แต่เมื่อหักค่าบริหารจัดการก็จะได้ 11 บาทกว่า ซึ่งก็ยังสูงกว่าราคาประกันที่รัฐบาลจัดให้อยู่ดี แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ปุ๋ย(เคมี)ราคาแพงกว่าเดิมหลายเท่าตัว จากเดิมกระสอบละ 600-700 บาท ตอนนี้พุ่งไปที่ 1,600-1,700  บาทเรียบร้อยแล้ว”
    นายสุรศักดิ์ สุปัญญา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรร้องกวาง จำกัด ตำบลร้องเข็ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่  กล่าวถึงปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้นช่วงนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตข้าวโพดของสมาชิก สหกรณ์พยายามหาทางออกด้วยการส่งเสริมให้สมาชิกผลิตปุ๋ยใช้เองและใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่น้อยลง จากเดิมที่ใส่ 2-3 กระสอบต่อไร่เหลือเพียงแค่กระสอบเดียวเพื่อลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ แม้ระยะเวลาเพียง 3 เดือนก็ตาม แต่เชื่อว่ามีผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด(เลี้ยงสัตว์)อย่างแน่นอน
    “ถ้ารัฐบาลนำข้าวโพดเข้ามาราคาลดลง มีผลกระทบแน่นอน  ส่วนราคาปุ๋ยก็เพิ่มขึ้นจาก 600-700 บาทเป็น 1,700-1,800 บาทต่อกระสอบ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น สหกรณ์ก็ช่วยสมาชิกหาปุ๋ยมาชดเชย ปุ๋ยอินทรีย์บ้าง ปุ๋ย มูลสัตว์บ้าง เกษตรกรบางคนบอกช้า เคยใช้ต่อไร่เท่าไหร่ก็ยังใช้เท่าเดิม”  ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรร้องกวาง จำกัดกล่าว

    นายสุรศักดิ์เผยต่อว่าปัจจุบันสหกรณ์ฯมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 2,557 ราย มีทุนดำเนินงานกว่า 370 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจ 6 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจแปรรูปผลผลิต ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจบริการ โดยสมาชิกส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รองลงมาเป็นข้าวเหนียวสันป่าตองหรือข้าวกข10 เนื่องจากพื้นที่ในเขตอำเภอร้องกวางนั้นส่วนใหญ่มีสภาพเป็นภูเขา ที่ราบน้อย การขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มจึงทำได้ยาก มีทางเดียวที่เป็นไปได้คือปลูกข้าวโพดหลังนาเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่ม
    “ในฤดูการผลิตปี64/65 ตัดยอดไปเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 8,604 ตันสด มูลค่า 61.08 ล้านบาท ส่วนข้าว 6,000 กว่าตัน ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดจะส่งขายให้กับโรงงานแปรรูป CPF  Betagro และคู่ค้าทั่วไป ส่วนข้าวจะส่งให้โรงสีที่จ.พิจิตร นอกจากข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วสมาชิกก็ยังปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรเสริมรายได้ แต่ก็มีส่วนน้อย เพราะที่นี่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ”นายสุรศักดิ์เผย
     ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรร้องกวาง จำกัด มีสถานที่รอบรวมผลผลิต 2 แห่งคือที่ตำบลน้ำเลาและตำบลร้องกวาง  โดยแต่ละแห่งก็จะมีโรงอบข้าวโพด ลานตากและไซโลสำหรับใช้เป็นที่เก็บรวบรวมผลผลิตก่อนนำไปจำหน่ายให้กับคู่ค้า  ส่วนในอนาคตนั้นสหกรณ์ฯ มีแผนพัฒนาธุรกิจ/ผลิตภัณฑ์  (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ การส่งเสริมการปลูก สนับสนุนปัจจัยการผลิต ลงพื้นที่แนะนำ ส่งเสริม กลางน้ำ สหกรณ์ฯ รับซื้อ รวบรวมผลผลิต ทำคุณภาพโดยการลดความชื้น การแปรรูป (บดเป็นอาหารสัตว์) และปลายน้ำ    
     อย่างไรก็ตามนายสุรศักดิ์ยังกล่าวถึงการเสนอขอสนับสนุนครุภัณฑ์การเกษตรไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น งบประมาณปี 2565 ได้ขอรถตักไปจำนวน 2 คัน เนื่องจากของเดิมมีอยู่แล้ว 4 คัน แต่อยู่ในสภาพเก่า ใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ซ่อมบำรุงไม่ไหว  หากไม่ได้ในปีนี้ก็จะขอในปีงบประมาณต่อไป เนื่องจากมีความจำเป็นจริง ๆ
   ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วย นายเฉลิมพล ชัยศิลบุญ สหกรณ์จังหวัดแพร่ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรร้องกวาง จำกัด โดยมี นายสมศักดิ์ ปินตาริน ประธานกรรมการฯ นายสุรศักดิ์ สุปัญญา ผู้จัดการสหกรณ์ฯ และคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรร้องกวาง จำกัด ตำบลร้องเข็ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
 ในโอกาสนี้รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงาน ให้กำลังใจคณะกรรมการ พร้อมให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ จัดทำแผนการรวบรวมผลผลิตให้ชัดเจน วางแผนการบริหารจัดการการใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ใช้ในการรวบรวมผลผลิตอีกด้วย