อ.อ.ป. – กยท. ผสานความร่วมมือ ลงนาม MOU … ชู 2 แผนงาน ‘สร้างองค์ความรู้ ทำสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล’ พร้อมมุ่งหวังลดก๊าซเรือนกระจกในสวนยางพารา
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการทำสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล และการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา ระหว่าง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ณ ห้องประชุมราชไมตรี (ชั้น 4) อาคาร 50 ปี การยางแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ผอ.อ.อ.ป.) เปิดเผยว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการทำสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล และ
การบริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นดำเนินตาม พันธกิจของรัฐวิสาหกิจ ของ อ.อ.ป. และ กยท. ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ นวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล ให้ได้ตามมาตรฐาน FSCTM, PEFCTM ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพ
ด้านการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา และสร้างโอกาสในธุรกิจคาร์บอนเครดิต
จากสวนยางพารา
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ อ.อ.ป. และ กยท. จะให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือ ในรูปแบบการจัดทำโครงการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ นวัตกรรม ให้แก่บุคลากร เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาความรู้ สร้างความเข้าใจ ในเรื่องการทำสวนยางให้เกิดความอย่างยั่งยืน และให้เป็นไปตามมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพาราที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง นอกจากแล้วนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีการแลกเปลี่ยนบุคลากร มีการศึกษาดูงาน และฝึกงาน บุคลากรของทั้ง
2 หน่วยงาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพ เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงเสริมสร้างและสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ นวัตกรรม ในเรื่องการจัดการสวนยางให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างสูงที่สุด
ผอ.อ.อ.ป. กล่าวปิดท้ายว่า อ.อ.ป. และ กยท. มุ่งหวังไว้ว่า การร่วมลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และจะสามารถพัฒนาศักยภาพของสวนยางให้เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล ตลอดจนสามารถขับเคลื่อนงานของรัฐบาล เรื่อง ลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่ง