ผอ.มหิดลวิทย์ โชว์วิสัยทัศน์ “อนาคตนักเรียนในโลกดิจิทัล” บนเวทีเอเปค 2022 ระบุ ครูต้อง เปิดใจ นำการเรียนรู้ เชื่อมโลกดิจิทัลกับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไร้รอยต่อ

12 พฤษภาคม 2565 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ / ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน) เป็นผู้แทนผู้บริหารโรงเรียนไทย เปิดวิสัยทัศน์อนาคตนักเรียนในโลกดิจิทัล ในการประชุมเครือข่ายด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 39 (39th APEC Education Network – EDNET)

ผอ.โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า โลกปัจจุบันเป็นโลกดิจิทัลแล้ว เพียงไม่กี่ปีเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราทุกมิติ ทั้งการเกิดสกุลเงินดิจิทัล เทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลินนิ่ง หรือโลกเมตาเวิร์ส ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกแห่งความเป็นจริงที่อิงธรรมชาติ อิงความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม การปิดช่องว่างนี้ต้องใช้ “ใจ” เป็นตัวนำ เข้าใจความแตกต่างบริบทของทั้งสองโลก เห็นใจคนที่คิดแตกต่างกับประสบการณ์ของโลกที่ต่างกัน และเอาใจนำเทคโนโลยีใช้ประโยชน์ในทางที่เหมาะที่ควร

ดร.วรวรงค์ กล่าวต่อว่า โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในฐานะโรงเรียนต้นแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ผ่านมายึดหลักการใช้ใจในการพัฒนาหลักสูตรและดูแลนักเรียนประจำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2562 ได้ปรับหลักสูตรโรงเรียนมาเน้นการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนานักเรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นผู้ที่สามารถทำได้จริง ประยุกต์ใช้ความรู้เป็น มีทักษะติดตัวพร้อมก้าวเป็นนักวิชาการชั้นเลิศและสร้างความเจริญให้กับประเทศได้ในอนาคต

“การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้แบบไร้รอยต่อ คุณครูต้องเปิดใจ ปรับตัวอย่างมากโดยเฉพาะตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนได้มาโรงเรียนเพียง 25% ครูก็ต้องสร้างสื่อและกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์หรือมอบหมายภารกิจให้นักเรียนได้ฝึกลงมือปฏิบัติที่บ้าน แล้วติดตามให้คำปรึกษากับนักเรียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องเข้าใจบริบทและจิตใจของนักเรียนวัย 15-18 ปี ที่อยู่ ๆ ต้องมาเจอการเรียนรู้ที่ตนไม่คุ้นเคย อีกทั้งเรายังหันมาใช้หลักสูตรที่เน้นสมรรถนะ ซึ่งต้องประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้จากการสังเกตพฤติกรรมและผลงานที่นักเรียนสร้างขึ้น ที่ทำได้เพราะเราพูดคุยและหารือกันบ่อยครั้ง และพร้อมเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน” ผอ.มหิดลวิทย์กล่าว

ดร.วรวรงค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นั้น คุณครูทุกคนเปิดใจรับฟังความรู้สึกของนักเรียน และนำมาปรับรูปแบบการเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงจิตใจเพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ หากเวลาเรียนออนไลน์ทำให้ล้า หรือนักเรียนไม่มีเวลาส่วนตัวกินข้าวกับที่บ้าน เราก็ยินดีปรับตารางเรียน เราถามนักเรียนว่า อยากมาโรงเรียนตลอดเทอมไหม เขาก็เลือกที่จะมาเพียง 75% เราก็จัดตารางเรียนเทอมนี้ให้มาเรียน ที่โรงเรียน 14 สัปดาห์ เรียนที่บ้าน 4 สัปดาห์ ซึ่งการให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้นี้ จะทำให้เขาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.วรวรงค์ กล่าวด้วยว่า จุดเด่นของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ คือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วประเทศ รวมถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับสร้างความเป็นเลิศด้านวิชาการตามที่นักเรียนสนใจ จะเห็นได้จากช่วงครึ่งปีแรกนี้ มีนักเรียนร่วมนำเสนอโครงงานในเวทีระดับชาติกว่า 30 โครงงาน ระดับนานาชาติ 3 โครงงาน คว้าเหรียญโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศ 23 เหรียญ (11 เหรียญทอง) นอกจากนี้การจัดการศึกษาในโรงเรียนแล้ว โรงเรียนยังได้เผยแพร่องค์ความรู้ เทคนิควิธี และประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนไปยังโรงเรียนทั่วประเทศมากกว่า 400 โรงเรียน และครูกว่า 7,000 คน นำไปปรับใช้ตามบริบทของโรงเรียนเพื่อพัฒนานักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกว่า 160,000 คน

เมื่อโลกดิจิทัลพาเราหนีไปจากโลกแห่งความเป็นจริง เราต้องใช้ “ใจ” ในการดึงนักเรียนให้กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ใช้ใจเราในการเข้าถึงใจนักเรียนและผู้ปกครอง เปิดใจและตั้งใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการให้ตรงกับใจของผู้เรียน ตามความถนัดและศักยภาพของเขา เพราะเทคโนโลยีทั้งหมดก็ถูกสร้างมาเพื่อคน ดังนั้นการเข้าถึงจิตใจของคน ของผู้ใช้เทคโนโลยี ก็จะสร้างเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพให้กับมวลมนุษยชาติได้ต่อไป สอดคล้องกับแนวคิด “Quality Education for Sustainable Growth “ คือการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผอ.มหิดลวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย