เตรียมผุด ขอนแก่นโมเดล เป็น Smart Education ริมบึงแก่นนคร ยกรูปแบบระบบรางจากทั่วโลกมาวางใช้งานจริง
ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 9 ในประเด็น “ปั้น Future Mobility ฝีมือคนไทยสู่เชิงพาณิชย์” พร้อมพูดคุยถึงความสำเร็จในการสร้าง “ต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยคนไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการอุดมศึกษา และภาคเอกชน ที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตขบวนรถไฟฟ้ากลางเมืองขอนแก่นได้ โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดร. ไพวรรณ เกิดตรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร. อีสาน) วิทยาเขตขอนแก่น และหัวหน้าโครงการวิจัย โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา และนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช.
ดร. สิรี เปิดเผยถึงการให้ทุนด้านยานยนต์แห่งอนาคตของ บพข. ที่มองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีพื้นฐานและมีศักยภาพ แต่ในขณะเดียวก็มองเห็นโอกาสที่จะถูกแทรกแซงได้ในอนาคต หากไม่ริเริ่มลงทุนในด้านนี้ อาจทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่เกิดความยั่งยืน อีกทั้งแนวโน้มการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ บพข. จึงตัดสินใจเริ่มเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยในกลุ่มนี้ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านที่ประเทศไทยมีศักยภาพและสามารถสร้างตลาดของตนเองได้ ซึ่งรวมถึงโครงการที่เกี่ยวกับระบบราง รถไฟรางเบา รถไฟโดยสาร ชิ้นส่วนของรถไฟ เป็นต้น
“โครงการต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยคนไทย เป็นหนึ่งในโครงการที่ บพข. ให้การสนับสนุนทุน ในฐานะที่เป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนฯ สิ่งที่อยากเห็นคือภาคเอกชนสามารถผลิตสินค้าต่างๆ เองได้ ใช้เทคโนโลยีที่อาจจะนำเข้ามา หรือพัฒนาเองในประเทศ แต่สุดท้ายแล้วประเทศไทยต้องทำเองได้ ซึ่งโครงการนี้ คณะอนุกรรมการ ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน ทั้งจากภาคเอกชน นักวิชาการ ภาครัฐ พิจารณาแล้วเห็นว่า คณาจารย์ที่เข้าร่วมล้วนมีความสามารถ อีกทั้งภาคเอกชนยังมีความตั้งใจจริง มีความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาสนับสนุน และมีแนวทางการสร้างบุคลากรเพื่อมารองรับโครงการนี้ ทำให้เห็นว่าถ้าให้ทุนไปแล้วจะมีความยั่งยืน และเมื่อสิ้นสุดการให้ทุน ภาคเอกชนสามารถดำเนินการต่อไปได้” ดร. สิรี กล่าว
ดร. สิรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะทำให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและภาคเอกชนต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป จากเดิมที่มหาวิทยาลัยทำแต่งานวิจัย แต่ไม่ได้มีการพัฒนานำไปใช้หรือทำให้กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญ ต้องเข้าไปปิดช่องโหว่ ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นด้วย บพข. จึงมองในเรื่องของการให้ทุนที่เป็นเงินสนับสนุนของรัฐที่จะเข้าไปช่วยลดความเสี่ยงของภาคเอกชน ในการร่วมลงทุนพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีให้นำไปใช้ได้จริง การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชนจึงเป็นส่วนสำคัญ ถ้าทุกฝ่ายพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ และประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะสามารถหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้
ในมุมของสถาบันอุดมศึกษา ดร.ไพวรรณ กล่าวว่า โครงการวิจัยต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบา เริ่มจากที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มียุทธศาสตร์ในการผลิตกำลังคนด้านระบบราง เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรมาตั้งแต่ปี 2557 – 2558 ด้วยการส่งคณาจารย์ในสาขาที่เปิดสอนด้านวิศวกรรมระบบราง ได้แก่ วิศวกรรมเครื่องกลระบบราง วิศวกรรมไฟฟ้าระบบราง และวิศวกรรมโยธาระบบราง ไปฝึกอบรมหลักสูตรด้านระบบราง ทั้งในและต่างประเทศ แล้วนำองค์ความรู้มาสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หลังการฝึกอบรม สิ่งที่ตามมาคืองานวิจัยที่เกิดขึ้นและทำมาอย่างต่อเนื่อง และจากความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น หลังฝึกอบรมภายใต้ยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้สัมผัสชิ้นส่วนของตัวรถ ได้ซ่อมบำรุง ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับชิ้นส่วนรถไฟฟ้ารางเบามา ก็ได้นำมาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งทำร่วมกับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ที่มีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และรถไฟ จึงกลายเป็นองค์ประกอบที่ลงตัวในการทำโครงการวิจัยครั้งนี้
นายสุรเดช กล่าวในฐานะภาคเอกชน ว่า ตนเริ่มต้นจากการเข้าร่วมหลักสูตรอบรมเรื่องวิศวกรรมขนส่งทางราง เกิดการสร้างเครือข่ายกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญในด้านนี้ เชื่อมโยงกับการผลักดันการสร้างเมืองอัจฉริยะในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีเรื่องการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) จึงมีแนวทางในการทำรถรางขึ้นด้วย และมีการผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง จนได้มาทำงานกับ มทร. อีสาน เป็นลักษณะความร่วมมือกันทำงาน ส่งคณาจารย์ไปเรียน จนได้ขอสนับสนุนทุนโครงการวิจัยจาก บพข. โดยตั้งเป้าว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญขึ้นในประเทศ ในการทำรถไฟเองได้ในไทย จากความสามารถของอาจารย์ในไทย
นายสุรเดช ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามว่า การทำ Smart Mobility จะดีกว่าการใช้รถยนต์แบบเดิมอย่างไร จะช่วยเมือง หรือช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร โดยให้ความเห็นว่า จะต้องเข้าไปเสริมองค์ความรู้ให้คนทั่วไปรู้ว่ารถรางที่ทำขึ้น สามารถทดแทนรถยนต์ได้เกือบ 180 คัน ทำให้เข้าใจว่าขนส่งมวลชนนี้จะช่วยสร้างให้เกิดเมืองเศรษฐกิจได้ และมีราคาไม่แพงอย่างที่คิด ที่สำคัญคือประเทศไทยสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เอง ต้องนำเอาองค์ความรู้ที่ได้มาสร้างระบบในไทย อาจริเริ่มจากการสร้างต้นแบบในจังหวัดขอนแก่น สร้างเป็นพื้นที่ Smart Education รอบบึงแก่นนคร เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับระบบราง ให้เกิดการเรียนรู้ เห็นตัวอย่างระบบรางที่มีความหลากหลายอย่างครบวงจร มีการต่อขยายเชื่อมโยงไปยังขนส่งสาธารณะอื่น เช่น ลงรถบัสมาสามารถก้าวขาขึ้นรถไฟระบบรางได้เลย การเชื่อมโยงระบบรางไปถึงถนน ที่ทำให้เกิดมูลค่ากับพื้นที่ตึกแถวริมถนนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การดำเนินงานข้างต้นไม่ใช่แค่เรื่องของศาสตร์ระบบรางเพียงอย่างเดียว แต่จะรวมทุกศาสตร์เข้ามาบูรณาการร่วมกันทั้งวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย จะทำให้เราเห็นอีกแนวทางในการพัฒนาเมือง ซึ่งการจะทำตามเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันและบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยว่าคนไทยเองก็ทำได้ สร้างให้เกิดความมั่นใจในสินค้าไทยและนักวิจัยไทย
ด้านการปรับตัวของมหาวิทยาลัย ดร. ไพวรรณ กล่าวว่า ในมุมมองของภาควิชาการ จะคุ้นชินกับการทำวิจัย และจบด้วยการนำผลงานไปตีพิมพ์ แต่โครงการวิจัยนี้ได้เริ่มตั้งแต่การวิจัยชิ้นส่วนต่างๆ มีการฝึกอบรมที่ทำให้ได้เห็นชิ้นส่วน และโครงสร้างรถจริง เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวจากการมองเพียงในมุม University-Based ให้หันมามองในส่วน Product-Based มากขึ้น และภาคการศึกษาจะต้องมองความเชื่อมโยงในการนำงานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมา เมื่อเกิดองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยแล้ว จะต้องต่อยอดไปถึงภาคเอกชนให้ได้ด้วย
ในส่วนบทบาทของ สอวช. นั้น ดร. กาญจนา กล่าวว่า สอวช. กำลังขับเคลื่อนการปลดล็อก และเพิ่มการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานวิจัยด้วยเช่นกัน อาทิ ปลดล็อกการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย แนวทางนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 รวมถึงการปลดล็อกให้อาจารย์ได้ไปทำงานกับภาคเอกชน และปลดล็อกเรื่องการขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ โดยใช้ผลงานงานวิจัยนวัตกรรมที่ทำร่วมกับภาคเอกชนหรือชุมชนด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจชมตัวอย่างต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาที่ผลิตโดยคนไทย สามารถเข้าชม ได้ที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 ณ ห้องประชุม Challenger Impact บูทเลขที่ A22/2 ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายน 2565