“รองหน.พรรคกล้า” ชู กาแฟ-ทุเรียน เป็นพืชเกษตรพรีเมี่ยม ชี้ดีมานด์อื้อ แต่ชาวสวนยังจน ทั้งที่คุณภาพยืนหนึ่งในโลกได้ จี้รัฐแก้กฎหมายอย่าเอื้อแค่นายทุนใหญ่

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก เปิดเผยว่า หลังจากที่เดินทางไปจัดคอร์สฝึกอบรมทำเวิร์คช็อบ สอนการขายของออนไลน์ให้ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้า ที่สนใจพัฒนาการเพิ่มรายได้ด้วยการขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงพบปะพูดคุยรับฟังปัญหาจากเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ จ.สงขลา,ลำพูน,เชียงใหม่,ลำปาง, ขอนแก่น ฯลฯ ทำให้เห็นว่า ความจริงแล้ว คุณภาพ ผลผลิต และสินค้าทั้งจากเกษตร และงานฝีมือ ต่าง ๆ ของคนไทยไม่ได้แพ้ชาติใดในโลกเพียงแต่ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ยิ่งเมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ก็ยิ่งส่งผลให้ตลาดซบเซา การขายออนไลน์จึงเป็นทางออกที่สำคัญ ซึ่งหากชาวบ้านได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถนำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาตัวเองและสินค้าที่จะเลือกมาจำหน่าย ก็จะเพิ่มเงินในกระเป๋าได้ ที่ผ่านมาวิทยากรที่เราคัดสรรมาก็ได้นำประสบการณ์มาช่วยชาวบ้านจนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วในหลายพื้นที่
“แม้พรรคกล้าจะไม่มี สส.ในสภา แต่ก็พร้อมทำงานช่วยชาวบ้าน เพราะเราให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ซึ่งหากพื้นที่ไหนต้องการให้เราไปฝึกอบรมให้ ก็ให้รวมตัวกันตั้ง 50 คน ขึ้นไปแล้วแจ้งมายังพรรคกล้า เราพร้อมไปอบรมให้ฟรี” นายวรวุฒิ กล่าว
รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานตั้งแต่เป็นคนตัวเล็ก สู่ธุรกิจหมื่นล้าน ทำให้มองออกว่าสินค้าไทย ยังมีอนาคตอีกมากมาย โดยเฉพาะ กาแฟ และ ทุเรียน ที่ยังมีความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกมหาศาล เริ่มจากกาแฟ วันนี้กาแฟไทยทำการผลิตได้ 22,000 ตันต่อปี แต่การบริโภคกาแฟ 66,000 ตันต่อปี เห็นตัวเลขแล้วก็จะคิดว่าเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวนต้องรวยแน่นอน แต่ปรากฏว่าเมืองไทยมีกาแฟนำเข้าเป็นนายทุนใหญ่ชาวไทยไปปลูกที่ประเทศเพื่อนบ้านแล้วอาศัยกฎหมายบีโอไอ ที่เปิดช่องให้ยกเว้นภาษีได้ เขาจึงนำเข้ามาตัดราคาเกษตรกรไทย คนได้ประโยชน์ไม่ใช่คนไทย ทั้งในแง่ของแรงงานและการค้าขาย ถ้าเราไปทำลายกลไกตรงนี้ โดยรัฐบาลแก้กฎหมาย ให้เป็นการอุดหนุนเท่าเทียมกันทั้งระบบ ชาวสวนก็จะอยู่ได้ แต่มันไม่ง่าย เพราะนักการเมืองก็มักจะเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเหมือนที่ผ่านมา
นายวรวุฒิ กล่าวว่า คุณภาพของกาแฟไทย และฝีมือการคั่ว ปรุง หมัก บ่ม ของคนไทย รวมถึงพันธุ์ก็ ไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้ง เคนย่า นิการากัว เอธิโอเปีย บราซิล โคลัมเบีย และประเทศในยุโรป ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำของโลก บอกเลยว่า ไทยสามารถพัฒนาไปยืนหนึ่งได้สบาย เพียงแต่ต้องทำเป็นกาแฟพรีเมี่ยมแล้วรักษาคุณภาพของสินค้าให้สม่ำเสมอ ขายกิโลละ 3,000 – 10,000 บาทได้เลย อย่าลืมว่าการบริโภคกาแฟมีทั่วโลก โอกาสของเกษตรกรไทยยังมีอีกมาก ถ้ารัฐบาลบริหารเป็น
สำหรับทุเรียน รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า 80% ของทุเรียนไทยส่งขายประเทศจีน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์การบริโภคไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของเขา ๆ ยังสามารถบริโภคได้อีก 5 เท่าได้สบาย ๆ หมายความว่า ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตทุเรียนได้ปีละ 1.5 ล้านตัน เราสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 5 ล้านตัน เราก็ยังมีตลาด ถ้าตนเป็นรัฐบาล ก็จะสนับสนุนให้ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นอีก 3-4 เท่า ทดแทนปาล์ม ที่นับวันการบริโภคจะลดน้อยลง ราคาก็จะตกต่ำลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันราคายังดีอยู่เพราะนำไปเป็นพลังงานไบโอดีเซล แต่อนาคตอันใกล้การใช้รถไฟฟ้าสูงขึ้น ความต้องการปาล์มก็จะลดลงตามกลไก วันนี้ก็ต้องทำให้เกษตรกรชาวสวนภาคใต้ เริ่มเปลี่ยนการปลูกปาล์มมาเป็นทุเรียน แต่อย่างไรก็ตามต้องวางแผนระยะยาว เพราะทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการความเอาใจใส่อย่างสูง โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำ ต้องวางระบบอย่างดี ให้มีปริมาณเพียงพอกับการขยายการเพาะปลูก
“ทั้งกาแฟและทุเรียน รัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมน หาตลาดให้เกษตรกรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าสนับสนุนให้ผลิต ไม่มีตลาดสุดท้ายก็เจ๊งกันหมด นอกจากนี้ยังต้องมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยเสริม ทั้งรสชาติ ทั้งการออกแบบดีไซน์แพคเกจจิ้ง รวมไปถึงพัฒนาเชฟ ต้องมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ผมขอเสนอตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าไทยและอาหาร” พัฒนาจากส่วนกลาง แล้วไปช่วยเหลือศูนย์ฯ ประจำตำบล เพื่อให้ได้มาตรฐาน ถ้าเราไม่ทำ สักพักถ้าจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ทำได้ ทั้งตลาดกาแฟและทุเรียนจะตกไปเป็นของคนอื่น จีนเป็นตลาดใหญ่ ที่ยังขยายได้อีกหลายเท่า ถ้าทำดี ๆ ยังไม่พูดถึงการแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ หรือ ทุเรียน มันต่อยอดได้อีกเยอะแยะ ทั้ง ทอฟฟี่ เค้ก ไอศกรีม ขนมอบกรอบ แข่งกับมันฝรั่งได้สบาย ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องมีรัฐบาลที่เข้าใจพอ ก็จะช่วยให้คนตัวเล็กลืมตาอ้าปากได้ ไม่ต้องตายทั้งเป็นเหมือนที่ผ่านมา” รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าว