นักวิจัยม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับม.ขอนแก่นและม.ราชภัฏนครราชสีมา ค้นพบโคพีพอดน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด
โคพีพอด เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก อยู่ในกลุ่มครัสเตเชีย (Crustacea) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำส่วนใหญ่มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-2.0 มิลลิเมตร มีความหลากชนิดสุง พบทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ล่า กลุ่มที่กินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร มีความสำคัญคือเป็นอาหารหลักให้กับสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่นปลา กุ้ง เป็นต้น มีทั้งกลุ่มที่อาศัยในน้ำจืดและน้ำเค็ม ได้ทั้งแหล่งน้ำถาวร แหล่งน้ำชั่วคราว แหล่งน้ำนิ่งหรือน้ำไหล และในการค้นพบครั้งนี้ เป็นโคพีพอดน้ำจืดที่พบในแอ่งน้ำนิ่งในสระน้ำ และแหล่งน้ำขนาดเล็กในถ้ำ
ดร. กรอร วงษ์กําแหง จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้ค้นพบโคพีพอดน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกจำนวน 2 ชนิด ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุจีภรณ์ อธิบาย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชายฉัตร บุญญานุสิทธิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา โดยโคพีพอดน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบ มีจำนวน 2 ชนิด ดังนี้
- โคพีพอด ชนิด Metacyclops sakaeratensis sp. nov. พบที่แหล่งน้ำ ที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โคพีพอด ชนิดนี้ว่า sakaeratensis ตามถิ่นที่พบ คือ พื้นที่สะแกราช (คำว่า ensis เป็นภาษาละติน แปลว่า pertaining to,” “originating in คือมีจุดกำเนิดมาจาก แสดงถึงพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อาศัยอยู่นั่นเอง)
- โคพีพอดถ้ำ ชนิด Metacyclops brancelji sp. nov. พบที่ถ้ำระฆังทองและถ้ำภูผาเพชร อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล และถ้ำเขานุ้ย จังหวัดสงขลา โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ชนิดนี้ว่า brancelji เพื่อเป็นเกียรติแก่ Prof. Dr. Anton Brancelj ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาโคพีพอดของโลก จากประเทศสโลวีเนีย ซึ่งท่านมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการศึกษาโคพีพอดถ้ำของประเทศไทย
สำหรับงานวิจัยเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Taxonomy เมื่อเดือนมกราคมปี 2565
https://europeanjournaloftaxonomy.eu/index.php/ejt/article/view/1621