“รองหัวหน้าพรรคกล้า” น้อมนำ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พัฒนาธุรกิจ และพรรคการเมือง เชื่อ ลดเหลื่อมล้ำ นำประเทศไทยพ้นวิกฤติได้
นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ก่อตั้งสมาคมอีคอมเมิร์ซ กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เป็นทฤษฎีเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั่วโลก ว่าเป็นทฤษฎีที่ใช้งานได้จริง และสามารถสร้างความมั่นคงมั่งคั่ง ให้กับประเทศที่นำหลักการนี้มาบริหารเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆอย่างได้ผล ขณะเดียวกัน ก็เป็นทฤษฎีที่ถูกนำมาเสียดสีประชดเหน็บแนม จากกลุ่มคนที่ไม่ทำความเข้าใจไม่เคยศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แต่กลับนำมาใช้ด้อยค่าโจมตีสถาบันอย่างมิบังควร
อย่างไรก็ตาม นายวรวุฒิ ออกตัวว่า ตนไม่อาจกล่าวอ้างว่า ทำความเข้าใจทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น แต่ก็ทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แค่นี้ก็รู้สึกได้ชัดเจนว่า ทฤษฎีนี้ถ้านำมาใช้บริหารจัดการประเทศแล้ว จะนำมาซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำ นำมาซึ่งความมั่นคงมั่งคั่งให้กับประเทศชาติได้อย่างแน่นอน เศรษฐกิจพอเพียงในความเข้าใจของผม มีองค์ประกอบเด่น ๆ ดังนี้
1.เศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพึ่งพาตนเอง แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของพระองค์ ที่มองทะลุก่อนที่ยุคโลกาภิวัฒน์ และการแข่งขันทางการค้าจะรุนแรงเข้มข้นแบบในยุคปัจจุบันเสียอีก การพึงพาตนเองนั้น มีในทุกระดับของหน่วยธุรกิจในสังคม ตั้งแต่ระดับปัจเจกประชาชน จนไปถึง SME หรือแม้กระทั่งธุรกิจขนาดใหญ่ การพึ่งพาตนเอง พื้นฐานสุดคือเน้นวัตถุดิบที่เป็นสิ่งที่เราหาได้ด้วยตัวเอง โดยพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ในรูปครัวเรือนเช่น การปลูกผักไว้กินเอง ในธุรกิจขนาดใหญ่ก็หมายถึงการใช้วัตถุดิบในประเทศลดการพึ่งพาการนำเข้า นอกจากนี้ การพึ่งพาตนเองถ้าตีความให้เข้าใจแล้ว ยังหมายถึงการพึ่งพา R&D หรือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี่ ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยี่จากต่างประเทศอีกด้วย
2 เศรษฐกิจพอเพียง..เน้นการบริหารความเสี่ยงหรือ risk management จุดนี้เป็นจุดที่คนที่ไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คนจน จนแบบถาวรกดหัวคนจนไม่ให้โงหัวด้วยคำว่าพอเพียง แต่ที่จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียง สามารถฟุ่มเฟือยได้แต่ต้องไม่เกินตัว ไม่ได้หมายความว่าห้ามฟุ่มเฟือย เพราะการฟุ่มเฟือยเกินสถานภาพ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิต หรือการทำธุรกิจไม่แตกต่างกัน การมองความเสี่ยงในแง่เศรษฐกิจพอเพียงนั้น ครอบคลุมถึงความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ครอบคลุมทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
เป็นการบริหารความเสี่ยง ที่ครอบคลุมทั้งแง่ปัจเจก และองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ถ้าเข้าใจแนวคิดนี้และนำไปใช้
- เศรษฐกิจพอเพียง..เน้นคำว่า optimum point มากกว่า maximum point จุด optimum หมายถึงจุดที่เหมาะสม โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆทั้งภายในภายนอก และปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตาม การวางเป้าหมาย maximum มักจะนำมาซึ่งความเสี่ยงอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากมี maximum profit คุณจะกดเงินเดือนพนักงานและให้สวัสดิการน้อยที่สุดที่พนักงานจะทนอยู่ได้ แต่ถ้าคุณมอง optimum profit คุณอาจจะให้เงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดแรงงาน แน่นอนอาจไม่ใช่ maximum profit แต่ในระยะยาว องค์กรของคุณจะเติบโตและอยู่ได้อย่างยั่งยืน การที่มองทุกอย่าง แบบoptimum ไม่ใช่ maximum หรือ minimum นั่นคือมาจากพื้นฐานทางสายกลางของพุทธศาสนานั่นเอง
4.เศรษฐกิจพอเพียง..เน้นการพัฒนาต่อเนื่อง หรือ continuous improvement ถ้าเราดูข้อ 1-3 อย่างเข้าใจแล้ว จะพบว่าถ้าเรายึดหลัก3ข้อข้างต้น จะนำพาเราเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยอัตโนมัติ แบบไม่ต้องฝืนและเป็นไปตามธรรมชาติ การพึ่งพาตนเอง การบริหารความเสี่ยง การมุ่งหาความสมดุลย์ด้วยจุด optimum ทั้งหมด จะนำไปสู่การพัฒนาและเติบโตแบบยั่งยืนในที่สุด
“ทั้งหมดนี้ถ้าใครเข้าใจคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบที่ผมเข้าใจ คุณจะตระหนักถึงความรอบรู้ ความลึกซึ้งในวิสัยทัศน์ของพระองค์ท่าน อย่างไม่มีความกังขาใดๆอีก ผมเขียนขึ้นจากความเข้าใจของผม และผ่านการทดลองประยุกต์ใช้ จนผมสามารถนำบริษัทเล็กๆเป็นหนี้เป็นสินใกล้ล้มละลาย ให้เติบโตเป็นบริษัทมหาชนมียอดขายหลักหมื่นล้านบาทต่อปี ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนี่แหละครับ และทุกวันนี้ ผมยังได้ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มาต่อยอดเป็นแนวคิดเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก ของพรรคกล้าอีกด้วย” รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าว