กรมประมง จับมือ กรมศุลกากร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง การควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำ นำเข้า ส่งออก และนำผ่าน เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของไทย
วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์
กรมประมง นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง และ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง เรื่อง การควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ส่งออก และนำผ่าน เพื่อยกระดับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)
นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงมีนโยบายมุ่งให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่จำกัดให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด โดยมีการวางระบบเพื่อบริหารจัดการสัตว์น้ำตลอดสายการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และร่วมกันขจัดปัญหาการทำประมง ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของไทยให้หมดไป
โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าว เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมประมง กับกรมศุลกากร ในการควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ส่งออก และนำผ่าน เพื่อแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และเป็นไปตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันมิให้สินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเข้ามาในราชอาณาจักรเข้าสู่ตลาด และกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ รวมถึงประเทศคู่ค้าถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของไทย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
การดำเนินการกรณีกรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้า ส่งออก และนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กรณีที่กรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ให้กรมประมงแจ้งเหตุผลการไม่อนุญาตให้กรมศุลกากร และผู้ขออนุญาตนำของเข้า ส่งออก หรือนำผ่านทราบ และในกรณีกรมศุลกากรตรวจพบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านโดยไม่มีใบอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ให้กรมศุลกากรแจ้งมายังกรมประมง เพื่อให้กรมประมงและกรมศุลกากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
การดำเนินการกับของกลาง ให้กรมศุลกากรมีอำนาจในการดำเนินการกับของกลางซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และยึดแนวทางของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้นำของกลางไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคา หรือสั่งให้ทำลายของกลาง พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดการดำเนินการนั้นให้กรมประมงทราบ
การร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ กรมศุลกากร และกรมประมงแต่ละพื้นที่ร่วมกันตรวจค้น – จับกุมสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่สงสัยว่าได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยกรมประมงมีหน้าที่หลักในการควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้า ส่งออก และนำผ่าน และป้องกันสินค้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมง และกรมศุลกากรจะมุ่งมั่น ในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและบูรณาการในการร่วมกันแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ต่อไป โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ด้าน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
( Illegal,Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing ) กับกรมประมง ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำ นำเข้า ส่งออกและนำผ่าน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ( IUU Fishing ) ดังนั้น เพื่อให้การทำประมงของประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล กรมศุลกากรก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกรมประมง ในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับการควบคุม ตรวจสอบการนำเข้า ส่งออกและนำผ่าน ซึ่งสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สินค้าสัตว์น้ำ เป็นการป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่มาจากการทำการประมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้ามาในราชอาณาจักร ทำให้นานาชาติ และประเทศคู่ค้า ยอมรับในมาตรฐานการตรวจสอบของประเทศไทยและเกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป