ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่นดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ มุ่งผลิตเมล็ดพันธุ์ได้มาตรฐาน

ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น กรมการข้าวจึงได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของเกษตรกร โดยการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพและสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามความต้องการของเกษตรกร โดยส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในท้องถิ่นผ่านศูนย์ข้าวชุมชน หรือนาแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถต่อยอด สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาต่อไปในอนาคต และสร้างรายได้อย่างมั่นคงสู่ครัวเรือน

นายมงคล จันทร์ประทัด ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ เกิดจากความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรที่สูงขึ้น และเนื่องจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวติดตั้งมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2528 ส่งผลให้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา จำเป็นต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพการผลิตต่อวันมากขึ้น

กรมการข้าวมีงบประมาณปรับปรุงเครื่องจักรอยู่ 4 กิจกรรม กิจกรรมที่ 1 เป็นกิจกรรมเพิ่มชุดเครื่องชั่งพร้อมจัดเรียงอัตโนมัติ กิจกรรมที่ 2 เป็นกิจกรรมปรับปรุงระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักร พร้อมอุปกรณ์ กิจกรรมที่ 3 ปรับปรุงเพิ่มเติมระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักร พร้อมอุปกรณ์ของโรงงาน A1 และกิจกรรมสุดท้ายคือสร้างโรงงาน A3

สำหรับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่นได้รับงบประมาณให้ดำเนินการ 2 กิจกรรม กิจกรรมที่ 1 ได้ดำเนินการกิจกรรมปรับปรุงเพิ่มเติมระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักร พร้อมอุปกรณ์ของโรงงาน A2 ศูนย์ได้ดำเนินการแล้ว ตรวจรับเสร็จสิ้นแล้ว สำหรับกิจกรรมที่ 2 เป็นกิจกรรมเพิ่มเติม เครื่องชั่งบรรจุพร้อมระบบจัดเรียงอัตโนมัติ ก็ได้รับการติดตั้ง ตรวจรับเครื่องจักรเรียบร้อยแล้ว สำหรับการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่นมีขั้นตอนตั้งแต่ ทำความสะอาดเบื้องต้นเพื่อคัดสิ่งเจือปนที่มีขนาดใหญ่ พวกเศษหิน เศษดิน เศษทราย ขนาดใหญ่ออกจากระบบ เมื่อผ่านการคัดทำความสะอาดเบื้องต้นก็เข้าสู่กระบวนการอบลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ที่รับมาจากเกษตรกรแปลงขยายพันธุ์ ซึ่งมี 2 แบบ แบบแรกคือเกษตรกรตากเป็นเมล็ดพันธุ์แห้งเข้ามา แบบที่ 2 ก็คือเมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นสูง ต้องมาลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ทั้ง 2 แบบ ให้อยู่ใน 12 เปอร์เซ็นต์ความชื้น ถ้าเปอร์เซ็นต์ความชื้นเกิน อายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ก็จะไม่ยาวนานเท่าที่ควร เมื่อผ่านกระบวนการลดความชื้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดขนาด คัดโดยใช้ตระแกรงและแรงลมเป็นการคัดขนาด และคัดโดยน้ำหนัก เมื่อคัดเสร็จจะทำการคลุกสารเคมี เพื่อป้องกันกำจัดโรค แต่ในกรณีลูกค้าต้องการเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีสารเคมีเพื่อนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ก็จะไม่ผ่านกระบวนการนี้ เมื่อผ่านกระบวนการคลุกสารเคมี ก็ไปเข้าสู่ขั้นตอนการชั่งและบรรจุลำเรียง ซึ่งปีนี้ศูนย์ฯก็ได้รับงบประมาณมาสนับสนุนสำหรับติดตั้งเครื่องชั่งบรรจุและลำเลียงอัตโนมัติ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงสภาพ จากประมาณ 3 ตันต่อชั่วโมง ตอนนี้ได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 7 ตันต่อชั่วโมง คือเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ก็เป็นผลดีของโครงการ เมื่อผ่านกระบวนการชั่ง บรรจุ ลำเลียงเรียบร้อย ก็ส่งมอบให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์นำเข้าโรงเก็บและก็จำหน่ายเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้และผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือใช้ผลิตข้าวเปลือกคุณภาพดีต่อไป ​

โครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จะเข้ามามีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ที่จะทำให้กรมการข้าวบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)ให้ชาวนาทุกคนได้ใช้เมล็ดพันธุ์ดี มีคุณภาพตามมาตรฐาน อย่างทั่วถึง ทันเวลาต่อไป