วช. เสริมแกร่ง มรภ.อุตรดิตถ์ ผลิตถ่านดูดกลิ่น 3 IN 1 จากวัสดุเหลือทิ้ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ นำองค์ความรู้ และนวัตกรรมการผลิตถ่านดูดกลิ่น 3 In 1 จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ส่งเสริมรายได้พื้นที่เป้าหมาย สร้างเกษตรกรต้นแบบ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.สุรินทร์ กว่า 100 ราย แนะใช้ถ่านดูดซับกลิ่น ความชื้น ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

จากปัญหาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อาทิ เปลือกทุเรียน เหง้ามันสำปะหลัง แกนข้าวโพด ข้อไม้ไผ่ รวมถึงเศษกิ่งไม้ริมทาง ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากนัก อีกทั้งการจัดการโดยเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งในที่โล่ง
ยังเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลสารเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ องค์ความรู้และนวัตกรรมการผลิตถ่านดูดกลิ่น 3 In 1 ด้วยวิธีไพโรไลซิส จึงนับเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ ขณะนี้นักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และติดตั้งนวัตกรรมแล้ว ประกอบด้วย เตาผลิตถ่านดูดกลิ่นแบบไพโรไลซิส เครื่องบดถ่าน ชั้นตากถ่าน เครื่องอัดถ่าน เครื่องเจียรตัดแต่งถ่าน และเครื่องเป่าลมร้อน พร้อมการออกแบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์และเกษตรกรต้นแบบ กว่า 100 ราย ใน 2 จังหวัดเป้าหมาย คือ กลุ่มคนทำถ่าน จ.อุตรดิตถ์ และกลุ่มคนเอาถ่าน จ.สุรินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บูรณาการการทำงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาคการวิจัยและภาควิชาการ ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ซึ่งมีผลงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นการขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน ในการพัฒนาอาชีพ การจัดการสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มมูลค่า พร้อมสร้างความตระหนักในการนำวัสดุเหลือทิ้งจากพื้นการเกษตรมาใช้ประโยชน์ โดยต่อยอดองค์ความรู้จากการวิจัยเชิงพื้นที่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างบรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

ด้าน ผศ.ดร.จันทร์เพ็ญ ชุมแสง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การใช้องค์ความรู้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมการผลิตถ่านดูดกลิ่น 3 In 1 จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อการส่งเสริมรายได้ในพื้นที่เป้าหมาย เป็นการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
เพื่อชุมชนสังคม มีจุดเด่น คือ การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร มาผลิตถ่านไบโอชาร์ (Biochar) โดยออกแบบเตาเผาถ่าน ด้วยกระบวนการเผาไหม้
ที่มีการควบคุมอุณหภูมิและอากาศ หรือจำกัดอากาศให้เข้าไปเผาไหม้น้อยที่สุด ที่เรียกว่า “การแยกสลายด้วยความร้อนหรือกระบวนการ “ไพโรไลซิส” ทำให้ถ่านที่ได้มีความพรุนสูง น้ำหนักเบา มีพื้นที่ผิวในการดูดซับประจุบวกสูง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการดูดซับความชื้น ประจุลบ และกักเก็บน้ำ เหมาะต่อการนำไปเป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน และการประยุกต์ใช้เป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตถ่านดูดกลิ่น กระบวนการผลิตอยู่บนพื้นฐานความเหมาะสม และเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ถ่านดูดกลิ่น 3 In 1 มีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น ความชื้น และจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคในอากาศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ถ่านมีประจุลบ และอินฟาเรดยาว ทำให้มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด สามารถวางไว้ในห้องนอน หรือใช้ได้ทั้งครัวเรือน เนื่องจากไม่มีสารเคมีเจือปน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเป็นวัสดุอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้แบรนด์ถ่านดูดกลิ่น “Biochar for Life” ผลิตโดย ชุมชนกลุ่มคนเอาถ่านตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ และ“PK Biochar air purifier”ผลิตและจำหน่ายโดยกลุ่มคนทำถ่านตำบลผักขวง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีผลการตรวจวิเคราะห์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ถ่านดูดกลิ่น มผช.๑๘๐/๒๕๖๓ นับว่า เป็นการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง