ูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ชูกลุ่มนาแปลงใหญ่บุฤาษีผลิตข้าวได้มาตรฐาน มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ

กลุ่มนาแปลงใหญ่บุฤาษี อำเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ทางศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ได้เข้ามาส่งเสริมทั้งด้านองค์ความรู้การผลิตข้าว สนับสนุนส่งเสริมกลุ่มแปลงนาใหญ่ทั้งในด้านของเทคโนโลยีในการผลิตข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิต ดูแลเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งผลให้กลุ่มนาแปลงใหญ่บุฤาษี เกษตรกรสมาชิกมีการวมกลุ่มที่เข้มแข็ง สามารถปลูกข้าว จนมีการตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ

นายตู้ สุขนึก ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่บุฤาษี อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่บุฤาษี ถือว่าเป็นนาแปลงใหญ่อันดับต้นๆของจังหวัดสุรินทร์ สมาชิกทั้งหมด 870 คน เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีสมาชิกปลูกข้าวให้กับทางกลุ่ม คือกลุ่มมีเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้สามารถส่งผลผลิตจำหน่ายออกต่างประเทศได้ เพราะทางกลุ่มมีความเข้มแข็งและมีการเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับและต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ได้เข้ามาส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ในการปลูกข้าว  ส่งเสริมองค์ความรู้ ส่งเสริมในด้านการตลาดให้อีกด้วย และจังหวัดสุรินทร์โดยเฉพาะอำเภอเมือง หรือในแถบฝั่งตะวันออก อยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้กลุ่มนาแปลงใหญ่บุฤาษี ปลูกข้าวได้แค่ปีละครั้ง ผลผลิตข้าวแห้งได้ 570 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์แท้เพียง  5 กิโลกรัม ซึ่งต่างกันชาวนารายอื่นที่ใช้เมล็ดพันธุ์ถึง 25 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางกลุ่มมีการลดต้นทุนในการใช้เมล็ดพันธุ์อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ทางกลุ่มยังได้รับมาตรฐานที่กรมการข้าวมอบให้ มีทั้งมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ เครื่องหมาย Q มาตรฐานข้าวพันธุ์แท้ และยกระดับขึ้นมาสู่มาตรฐาน EUNOP ซึ่งเป็นมาตรฐานต่างประเทศ การันตีให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นได้ว่าผลผลิตข้าวของทางกลุ่มมีมาตรฐานรองรับ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน และเห็นผลเป็นรูปธรรม

นายสมลักษณ์ มอญขาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ กล่าวว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่บุฤาษี อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  ของนายตู้ สุขนึก เกษตรกรมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่กระบวนการผลิต และการแปรรูป และการจำหน่าย ไปจนถึงการเชื่อมโยงตลาด ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ได้เข้าไปสนับสนุน เมล็ดพันธุ์ข้าว เครื่องหยอดข้าว เครื่องปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งทางกลุ่มยังได้รับงบประมาณ จัดทำแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ ชาข้าว และได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เกษตรกรนำทุนไปจัดซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์ ไว้ใช้ในการผลิตข้าว ส่งผลให้กลุ่มมีความเจริญเติบโต เข้มแข็งต่อไปในอนาคต สามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง  พึ่งพาตัวเองได้และเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ มีเป้าหมายในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์เพื่อตอบสนองความ ต้องการของเกษตรกรในเขตพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีในการเพาะปลูก ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพสูงขึ้น ทำให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ มีความมุ่งมั่น ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ  เพื่อพัฒนาอาชีพการทำนา ให้กับเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง ด้วยความสมัคสมานสามัคคีของคนกลุ่มและคนในชุมชน จะก้าวไปสู่ความสำเร็จให้เกษตรกรต่อไปในอนาคต