จัดงบเงินกู้ 1.8 พันล. ช่วย 251 สหกรณ์ ปรับโครงสร้างภาคเกษตรสู้วิกฤติโควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรจะเห็นได้ว่าแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรหลายแหล่งหยุดให้บริการ เกษตรกรไม่สามารถออกนอกพื้นที่เพื่อขายผลผลิตได้ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายส่งผลกระทบต่อรายได้และอาชีพของเกษตรกร

          กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้สหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 4,509 สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจำนวน 4,661 กลุ่ม รวมไม่น้อยกว่า 9,170 แห่ง ซึ่งเป็นองค์ธุรกิจในระดับชุมชนเป็นที่พึ่งให้กับเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป จึงได้จัดทำโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและการแปรรูปผลผลิตของสถาบันเกษตรกร

          โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพสถาบันเกษตรกรให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตและเป็นกลไกหลักในระดับชุมชนในการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป        ในการเพาะปลูก การรวบรวม จัดเก็บและแปรรูปผลผลิตการเกษตรรูป ในกรอบวงเงิน 1,881,674,900 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่ได้อนุมัติโครงการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรเพื่อรองรับผลผลิตสถาบันเกษตรกรของ             กรมส่งเสริมสหกรณ์  

          โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้เสนอโครงการเข้ามาและผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) จำนวน 251 แห่งใน 60 จังหวัด รวม 486 รายการ ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกมากกว่า 2.7 หมื่นราย

          “เงินก้อนนี้เป็นเงินกู้ของรัฐบาลที่นำมาฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในวงเงิน 1,881 พันล้านบาท โดยรัฐอุดหนุนงบไม่น้อยกว่า 90% อีก 10% ให้สหกรณ์จ่ายสมทบ”

          นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงที่มาของเงินในโครงการจ่ายให้กับสหกรณ์ (ชั้นดี) เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาจะต้องเป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายอยู่ในระดับมาตรฐานสหกรณ์ชั้น 1 หรือชั้น 2 และผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรในการขอรับเงินอุดหนุน

          “สหกรณ์จะต้องจัดทำแผนธุรกิจที่ชัดเจนและไม่มีปัญหาทางการเงินและบัญชี มีที่ดินเป็นของตนเองหรือกรณีเป็นที่ดินของรัฐจะต้องมีหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์หรือสิทธิเหนือพื้นดินและไม่มีภาระผูกพันการค้ำประกันจำนอง ยกเว้นติดจำนองกับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จึงจะสามารถทำโครงการขอรับทุนอุดหนุนจากเงินก้อนนี้ได้” นายวิศิษฐ์กล่าว

          สำหรับอุปกรณ์การตลาดที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดหาให้นั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยว่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่  ได้แก่ กลุ่มครุภัณฑ์การเกษตร กลุ่มยานพาหนะและขนส่ง และกลุ่มสิ่งปลูกสร้างเพื่อรวบรวมและแปรรูปผลผลิต

          โดยกลุ่มแรกนั้นได้แก่ เครื่องตัดหญ้าสะพายหลัง รถตักล้อยาง รถแทรกเตอร์ ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ทางสหกรณ์        จะนำไปให้บริการแก่สมาชิกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รับจ้าง ตัดวัชพืชหรือสมาชิกสามารถหยิบยืมไปใช้งานก็ได้ขึ้น ทั้งนี้อยู่กับการให้บริการของแต่ละสหกรณ์ 

           ส่วนกลุ่มที่สองเป็นยานพาหนะขนส่ง เช่น รถห้องเย็น รถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อที่จะขนผลผลิตออกสู่ตลาด โดยเน้นไปที่สหกรณ์ปลูกพืชผักปลอดสารพิษที่ผลผลิตมักเน่าเสียง่าย หรือสหกรณ์โคนมใช้ขนส่งน้ำนมดิน สหกรณ์เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา           ที่ต้องการใช้ห้องเย็นหรือรถห้องเย็นในการเก็บเพื่อยืดอายุผลผลิต จึงจำเป็นต้องมีรถห้องเย็นขนาด 1 ตัน หรือ 6 ตัน และสุดท้ายเป็นกลุ่มสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ เครื่องอบลดความชื้น โรงสี ลานตาก โกดังเก็บผลผลิต รวมถึงอุปกรณ์การแปรรูปต่าง ๆ

          “ที่ได้รับผลโดยตรงจากโครงการนี้ ตามตัวชี้วัดที่เราตั้งไว้ คือตัวสมาชิกก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อปี สหกรณ์สามารถรวบรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 8 แสนตันต่อปี มีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นกว่า 105 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบจากตัวเลขของเดิมที่รวบรวมไว้ในปี 2563” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวย้ำ

          อย่างไรก็ตามล่าสุดเงินก้อนดังกล่าวได้โอนไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัดต่าง ๆ ที่มีโครงการฯเกือบจะร้อยเปอร์เซนต์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้โครงการที่ขอสนับสนุนสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ เช่น ลานตาก โรงอบลดความชื้น โรงเก็บผลผลิต อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หากได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จไม่เกิน 1-2 เดือนสามารถรองรับผลผลิตได้ทันในฤดูกาลผลิตปีนี้ ส่วนกลุ่มครุภัณฑ์การเกษตรและกลุ่มยานยนต์พาหนะขนส่ง ส่วนใหญ่ได้มีการจัดซื้อเรียบร้อยพร้อมใช้งานได้แล้ว

          นายณัฐพล แป้นนอก สหกรณ์จังหวัด (สกจ.) ร้อยเอ็ดเผยว่าในส่วนของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ดได้รับเงินกู้ก้อนดังกล่าวมาจำนวนทั้งสิ้น 9 ล้านบาทใน 4 สหกรณ์ ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรจตุรพักตรพิมาน จำกัด สหกรณ์การเกษตรอาจสามารถ จำกัด สหกรณ์การเกษตรโพธิ์ชัย จำกัด และสหกรณ์การเกษตรหนองพอก จำกัด ซึ่งประกอบด้วยลานตาก ขนาด 3,200 ตารางเมตร รถโฟล์คลิฟท์ รถตักล้อยาง และรถแทรคเตอร์ 24 แรงม้า

          “ที่ขอลานตากมี 3 สหกรณ์ มีจตุรพักตรพิมาน อาจสามารถและโพธิ์ชัย ส่วนหนองพอกขอรถแทรคเตอร์อย่างเดียว และจตุรพักตรพิมานขอมากที่สุด 3 อย่างมีลานตาก รถโฟล์คลิฟท์ และรถตักล้อยาง เพราะสหกรณ์จตุรพักตรพิมานมีผลผลิตข้าวเยอะ 90% เป็นข้าวหอมมะลิ แต่อุปกรณ์การตลาดมีน้อย” สหกรณ์จังหวัด (สกจ.) ร้อยเอ็ดกล่าว และย้ำว่าการได้อุปกรณ์มาใหม่น่าจะช่วยทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ของสหกรณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคม    ซึ่งเป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดมากที่สุด

          อย่างไรก็ตามปัจจุบัน จ.ร้อยเอ็ด มีสหกรณ์การเกษตรทั้งหมด 18 สหกรณ์ สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก รองมาเป็นข้าวขาวและข้าวเหนียว โดยมีสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีโรงสีเป็นของตัวเอง จำนวน 6 สหกรณ์และสามารถรวบรวมผลผลิตข้าวได้ประมาณ 1.6 แสนตันต่อปี

          ขณะที่นายภาณุษิต ปั๋มป้อม ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด กล่าวยอมรับว่าก่อนหน้านี้สหกรณ์         ได้กู้เงินจากงบกลางของรัฐบาลผ่านทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ดอกเบี้ยร้อยละ 1 จำนวน 5 ล้านบาทเพื่อนำมาปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มและปีนี้สหกรณ์ยังได้ทำโครงการซื้อรถห้องเย็นสี่ล้อเล็กเพื่อขนส่งผลิตภัณฑ์นมให้กับลูกค้าในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็ได้รับเงินอุดหนุนจากรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 1 ล้านบาท โดยสหกรณ์ร่วมสมทบร้อยละ 10 ซึ่งก็จะทำให้ลูกค้าได้รับบริการ          ที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

          “ปัญหาตอนนี้ก็มีคูลเลอร์แท๊งค์ที่ใช้สำหรับเก็บน้ำนมดิบ ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานเกือบ 30 ปีแล้ว อยากจะปรับปรุงใหม่ รวมทั้งแลคเกอร์ชั้นวางผลิตภัณฑ์นม ซึ่งขณะนี้ยังไม่เพียงพอจะต้องสร้างเพิ่ม” ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด กล่าวย้ำ

          งบเงินกู้สี่แสนล้านของรัฐบาล นับเป็นอีกช่องทางในการช่วยเหลือกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร         ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจหลักในระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อฟื้นฟูเยียวยาระบบเศรษฐกิจฐานรากต่อไป