สอวช.เปิดผลสำรวจตัวเลชลงุทนวิจัยและพัฒนา ปี 62 พบอุตสาหกรรมอาหาร ปิโตรเคมี การเงิน และประกันภัยเป็นธุรกิจดาวรุ่ง
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดผลสำรวจตัวเลขค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนา ในปี 2562 ที่ สอวช. ได้ทำร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 193,072 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.14 ของจีดีพี เติบโตขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 149,244 ล้านบาท และการลงทุนของภาครัฐ 43,828 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 77 และร้อยละ 23 ตามลำดับ ซึ่งการลงทุนของภาคเอกชนจะเกิดผลกับเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนภาครัฐจะเน้นไปที่การลงทุนการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ในปีที่ผ่านมาเน้นการศึกษาวิจัยใน 4 เรื่องหลัก คือ 1. Quantum Technology 2. Space Science & Technology 3. High Energy Physics และ 4. Molecular Biology นอกจากนี้ภาครัฐยังได้ลงทุนกับการวิจัยขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรวิจัยด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1.อุตสาหกรรมอาหาร มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด อยู่ที่ 32,321 ล้านบาท โดยมีการลงทุนก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมอาหารเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัย เพื่อนำวัตถุดิบเหลือใช้มาทำการเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดของเสียจากการผลิต รวมถึงมีการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิม ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
2.อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 11,958 ล้านบาท โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการเดิมเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่ายหรือสร้างผลลัพธ์อื่นๆ มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
3.บริการด้านการเงินและประกันภัย มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 11,579 ล้านบาท โดยมีการวิจัยและพัฒนา Mobile Banking Platform และพัฒนาระบบการทำธุรกรรมออนไลน์ให้น่าเชื่อถือ ป้องกันการโจรกรรมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด
ในส่วนของจํานวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2562 ผลสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา รวมทั้งสิ้น 166,788 คน-ปี คิดเป็นสัดส่วน 25 คน ต่อประชากร 10,000 คน-ปี โดยแบ่งเป็นบุคลากรจากภาคเอกชน 115,543 คน-ปี และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ (รวมภาคอื่นๆ) 51,245 คน-ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 และร้อยละ 31 ตามลำดับ โดยจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ประจำปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.6 และในปี 2570 ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา ให้อยู่ในสัดส่วน 40 คน ต่อประชากร 10,000 คน-ปี
การประเมินสถานภาพการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ปี 2563 – 2570 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 …. ภาคเอกชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดทอนค่าใช้จ่าย เพื่อรักษากิจการไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะถูกพิจารณาปรับลดลง สอวช. คาดการณ์ว่าการลงทุนในด้านนี้ของประเทศไทยจะลดลงเป็นอย่างมากในช่วงปี 2563 – 2565 และจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปแล้วในปี 2566 เป็นต้นไป
โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2563 ตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาจะอยู่ที่ร้อยละ 0.91 ต่อจีดีพี ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 0.94 ต่อจีดีพี และปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.96 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมาตรการที่มาช่วยกระตุ้น ส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐเพิ่มเติม ก็คาดว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีการลงทุนในด้านนี้คิดเป็นร้อยละ 1.46 ของจีดีพี ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 2 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า แต่ด้วยในปัจจุบันองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะเป็นการลงทุนที่สร้างโอกาสให้กับประเทศในระยะยาวได้ เราจึงยังคงยืนยันในการรักษาเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาในปี 2570 ที่ร้อยละ 2 ต่อจีดีพี ตามเป้าหมายเดิม โดยภาครัฐจะต้องมีมาตรการในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
ทั้งนี้การคลี่คลายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศ หากสถานการณ์คลี่คลายเร็ว ภาคเอกชนจะกลับมาลงทุนเร็ว ภาคบริการ การท่องเที่ยว ต้องมีการปรับตัว มีเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง และจากแรงกดดันของการทำธุรกิจและการตลาด จะยิ่งหนุนให้ต้องมีการทำวิจัย ส่วนในสาขาอาหาร ต้องให้ความสำคัญกับการทำเรื่องอาหารปลอดภัย การขนส่ง การผลิตอาหารสดไปถึงมือผู้บริโภค โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมการผลิต ต้องหันมาใช้ Automation และ AI มากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศน้อยลง
แนวทางในการผลักดันให้ตัวเลขการวิจัยและการพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นได้ในภาพรวมหลังปี 2565-2566 คือ
- กองทุนต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อม
- แรงจูงใจทางด้านภาษี บริษัทใหญ่บริจาคเงินเข้ากองทุนนวัตกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แล้วนำยอดเงินนั้นไปขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกรมสรรพากร โดยสามารถยกเว้นภาษีได้ 2 เท่า
- ปลดล็อกในเชิงกฎระเบียบหรือกฎหมาย ให้การสนับสนุนทุนวิจัยทำได้ง่ายขึ้น สามารถสนับสนุนทุนให้กับภาคเอกชนได้โดยตรง ในลักษณะของการทำ Matching Fund