“พลเอก ประวิตร” ลงพื้นที่ภาคตอ.การันตีน้ำมั่นคง เร่งรัดพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำฝน สร้างความมั่นใจประชาชน-นักลงทุน

วันที่ 14 มิ.ย.64 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ และความพร้อมรับมือฤดูฝน’64 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ณ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมี นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวต้อนรับ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาพรวม การจัดการน้ำสนับสนุนอีอีซี ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของอีอีซี และความต้องการใช้น้ำในอนาคต โดย นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แนวทางการบริหารจัดการน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอีอีซีในอนาคต โดย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. และผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการประชุมทางไกลร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และการประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ก่อนลงพื้นที่เยี่ยมชมการทำงานของระบบและกดปุ่มเปิดการทำงานของเครื่องสูบน้ำสถานีคลองสะพาน-ประแสร์ ณ บริเวณจุดติดตั้งสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-ประแสร์

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกและอีอีซี รวมถึงเน้นย้ำความพร้อมในการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อให้พื้นที่ภาคตะวันออกมีความมั่นคงเรื่องน้ำ นักลงทุนเกิดความมั่นใจ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือและกำหนดแนวทางร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ รวมถึงเร่งดำเนินการเพิ่มน้ำต้นทุนโดยการพัฒนาระบบโครงข่ายน้ำต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว 2.การนิคมอุตสาหกรรมต้องจัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้น้ำแบบ3R รวมถึงเร่งดำเนินการเพิ่มน้ำต้นทุนโดยจัดทำระบบเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ซึ่งต้องดำเนินการอย่างประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุด และ 3.ขอให้ทุกหน่วยปฏิบัติตาม 10 มาตรการ รับมือฝนปี’64 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก รวมถึงวางแผนเก็บน้ำสำรองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดินไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2563) รัฐบาลได้เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกในทุกรูปแบบ เพื่อให้มีพื้นที่เก็บกักน้ำฝนให้มากที่สุด สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ทั้งภาคประชาชน เศรษฐกิจ เกษตร อุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอีอีซี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีโครงการแหล่งน้ำเกิดขึ้นแล้วถึง 2,872 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 372,950 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 136,751 ครัวเรือน ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้นประมาณ 138 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) อาทิ การเพิ่มศักยภาพการเก็บกักอ่างเก็บน้ำคลองสียัด เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองค้อ เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลธร ก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาบ้านฉาง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ที่เป็นหัวใจหลักสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งประสบปัญหาน้ำน้อยมาก กอนช.จึงได้จัดสรรงบกลางปี’63 สนับสนุนส่วนหนึ่งให้กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการสูบน้ำกลับจากคลองสะพานมาเติมอ่างประแสร์ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น ในปี’ 64 ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่ยังต้องเน้นย้ำทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผน พร้อมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเตรียมการรับมือและให้การสนับสนุนร่วมไปกับภาครัฐด้วยทั้งมาตรการระยะสั้น และต่อเนื่องในระยะยาวที่รัฐบาลมีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทั้งภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคเกษตรกรรม การหาแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่นี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 – 2580 ทั้งสิ้น 38 โครงการ ใน 9 กลุ่มโครงการหลัก ได้แก่ การก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ก่อสร้างโครงข่ายน้ำใหม่ ปรับปรุงโครงข่ายน้ำเดิม ก่อสร้างระบบสูบกลับ ขุดลอก/แก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำ บ่อบาดาลอุตสาหกรรม สระเอกชน และการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 872 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอต่อการรองรับการพัฒนาอีอีซีในอนาคต

ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมในภาคตะวันออกว่า แหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมด มีปริมาณน้ำทั้งหมด 1,325 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ของความจุ แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 6 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้ 657 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ของความจุทั้งหมด แหล่งน้ำขนาดกลาง จำนวน 44 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 517 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% แหล่งน้ำขนาดเล็ก จำนวน 14,510 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54% ขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำ และโครงข่ายท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกในปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงแหล่งน้ำต้นทุนผิวดิน อีกทั้งมีการจัดสรรน้ำจากลุ่มน้ำนอกภาคตะวันออกเข้ามาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดย สทนช. ได้กำกับ เร่งรัดการขับเคลื่อนตามแผนงานโครงการไปแล้ว 17 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ ได้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 111 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 11 โครงการคาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2567 จะได้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 151 ล้าน ลบ.ม. และได้เสนอให้มีการเร่งรัดโครงการที่สำคัญอีก 12 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาความเหมาะสม การมีส่วนร่วมกับประชาชน และโครงการที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้หน่วยงานปรับแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 183 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น อีก 9 โครงการ สทนช.จะกำกับให้ดำเนินการตามแผนงานของหน่วยงาน โดยแล้วเสร็จภายในปี 2573 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 426 ล้าน ลบ.ม.
…………………………………