สืบสาน รักษา ต่อยอด อ่างเก็บน้ำพร้อมรับน้ำฝนปี 64

กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำฝนในปี 2564 นี้ มีแนวโน้มสูงกว่า ค่าเฉลี่ย 30 ปี คล้ายกับสถานการณ์ในปี 2551 ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศจะมีค่าสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะ ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนจะมากกว่าค่าปกติ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ที่ต่ำกว่าค่าปกติ


โดยฝนในกลางเดือน พ.ค.- มิ.ย. 2564 จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 40-60 % ของพื้นที่ และตกหนักในบางพื้นที่ยกเว้นภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่มีฝน 60-80 % ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง คาดว่าจะมีพื้นที่ต้องการน้ำประมาณ 3 หมื่นล้าน ลบ.ม. เป็นเพื่อการเกษตร 2.16 ล้าน ลบ.ม. อุปโภคบริโภค 2.67 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 849 ล้าน ลบ.ม. และระบบนิเวศและอื่นๆ 5.2 พันล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ทางรัฐบาลโดย กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เตรียมการเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อรับมือภาวะฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2564 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เร่งเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2654 เพื่อรองรับภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 โดยให้ควบคุมการเก็บกักน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมาในแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ


และให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เร่งรัดงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและงานเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและเก็บกักน้ำไว้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ เป็นต้น


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงาน กปร. ให้รีบดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ “ห้วยทรายขมิ้น” ที่ประสบปัญหาอุทกภัยชำรุดเสียหายจากพายุโซนร้อนเซินกาให้ใช้การได้โดยเร็ว และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีพระราชกระแส ว่าเป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญ น่าจะตรวจระบบอ่าง, เขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป ซึ่งเป็นที่มาของการดำเนินงานในการสำรวจพร้อมปรับปรุงแก้ไขอ่างเก็บกักน้ำในขอบข่ายทั่วประเทศในเวลาต่อมาเพื่อให้มีความแข็งแรงสามารถเก็บกักปริมาณน้ำให้ได้มากขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ


และจากการประชุมของกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาโดยมี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการ พร้อมด้วยพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานกรรมการฯ โดยมีผู้แทนส่วนงานที่ร่วมสนองพระราชดำริเข้าร่วมประชุม
ซึ่งจากการติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ในระดับพื้นที่ ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 15 มีนาคม 2564 พบว่ามีการติดตามไปแล้วจำนวน 47 โครงการ รวม 22 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภาค และการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่อยู่ในวาระติดตามและขับเคลื่อนฯ จำนวน 88 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่พระราชทานพระราชดำริโดยตรง จำนวน 26 โครงการ และโครงการที่เกิดจากราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ (ฎีกา) จำนวน 62 โครงการ จากการติดตามและขับเคลื่อนโครงการของคณะกรรมการฯ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ทั้ง 4 ภาค ที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. และกรมชลประทานไปแล้ว จำนวน 60 โครงการ ยังอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ อีก 21 โครงการ


นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราดำริ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพภาคการผลิตด้านการเกษตรที่มีน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐาน ด้านการผลิตนอกเหนือจากพันธุ์พืชและที่ดิน