‘คลังโลกสอนลูก’ : มุมมอง “กรณ์” ต่อโลกของ ‘บิทคอยน์-คริปโต’ กับสัจธรรมทางการเงินอนาคต
“กรณ์” ยกประสบการณ์สอนลูก ย้อนอดีตมองอนาคต ว่าด้วยการสะสมบิทคอยน์ และมุมมองต่อคริปโต
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะกูรูทางการเงิน และอดีตรัฐมนตรีคลังโลก โพสต์เฟซบุ๊ก บอกเล่าถึงการพูดกับลูกชาย ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อนโซเชียลในกลุ่มเขาเศร้าหมองมาก ไม่ใช่เพราะโควิดกับตัวเลขที่ยังพุ่งสูงไม่หยุดเพียงอย่างเดียว แต่เพราะราคาบิทคอย์น ยังลดลงต่อเนื่อง ซึ่งก็เข้าทางพ่อที่ชอบเรื่องการลงทุนเลยได้คุยกับลูกเรื่องเงินและเรื่องการบริหารความเสี่ยง
นายกรณ์ บอกด้วยว่า ที่บ้านเรามีบิทคอย์นอยู่เล็กน้อย ได้มาจากการค่อยๆเปลี่ยน crypto ประเภท ICO ที่เคยซื้อไว้เมื่อ 3 ปีก่อนมาเป็น ‘สกุลหลัก’ คือบิทคอยน์ เราไม่เคยคิดจะขายบิทคอย์น และไม่เคยคิดจะนำบิทคอยน์ไปใช้ซื้ออะไร เราถือไว้เพื่อหวังว่าราคามันจะขึ้นไปเรื่อย ๆ เลยชวนให้คิดว่าถ้าทุกคนถือบิทคอยน์ไว้เพื่อหวังกำไร ไม่คิดจะเอาออกมาใช้ แล้วมันจะทำหน้าที่เป็น ‘เงิน’ ได้อย่างไร จำนวนการใช้บิทคอยน์ทั่วโลกพีคที่ประมาณ 300,000 ครั้งต่อวัน (ช่วงนี้ลดลงเหลือ 170,000) ซึ่งอยู่ในระดับนี้มานาน ในขณะที่มูลค่าของบิทคอยน์นั้นเพิ่มขึ้นมาตลอด
ตอนนี้หลายคนบอกว่าไม่เอาบิทคอย์นมาใช้น่ะดีแล้ว เพราะการผลิตและการใช้บิทคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมาก แค่ใช้กันอยู่เท่าปัจจุบันก็กินพลังงานมากเท่ากับหลายประเทศแล้ว (เท่ากับประมาณ 75% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศไทย!) จนทำให้มีการเรียกบิทคอยน์เป็น ‘เงินสกปรก’ ที่ไม่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
อย่างเช้านี้เห็นข่าวว่ารัฐบาลอิหร่านออกมาห้ามการ ‘ขุด’ บิทคอย์นเพราะไฟฟ้าในประเทศผลิตไม่ทัน โดยเฉพาะช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอิหร่านแย่มาก แต่การใช้ไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้นถึง 20% ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า หากบิทคอยน์ไม่เหมาะกับการใช้เป็น ‘เงิน’ แล้วบิทคอยน์ยังจะมีประโยชน์ในการใช้งานอย่างไร เพราะคนรุ่นใหม่เขาเรียกว่า ‘use case’ ที่แน่นอนที่สุดคือมีการใช้บิทคอย์นในการฟอกเงินอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลทั่วโลกไม่เป็นมิตรกับบิทคอย์น ข้อเท็จจริงนี้แฟน ๆ บิทคอย์นจะไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เพราะตราบใดที่บิทคอย์นยังเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ ก็ยากที่จะเป็นที่ยอมรับได้
นายกรณ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่มีความรู้มากพอที่จะมองเห็นอนาคตของคริปโตได้อย่างชัดเจน แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า digital money จะต้องมีบทบาทในระบบการเงินของโลกในอดีต ‘เงิน’ ต้องมีหลักประกันหนุนหลัง แม้แต่เงินดอลลาร์ยังเคยต้องมีทองหนุนหลังจนถึงปี 1971 วันนี้บิทคอย์นไม่มีอะไรหนุนเลยนอกจาก algorithm ที่มั่นคง และ ‘ความเชื่อ’ ของแฟนๆ ซึ่งสองปัจจัยนี้ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพทางราคา จึงเป็นเหตุให้มีแนวคิดโดยหลายธนาคารกลางที่จะออก crypto ของตัวเอง (เรียกว่า ‘stable coin’ คือ crypto ที่ผูกกับสกุลเงินหลัก ราคาจะไม่หวือหวา) ส่วนอะไรจะเป็นตัวเลือกหลักยังไม่มีใครรู้
“สุดท้ายผมบอกกับลูกว่า เราต้องพยายามแยกแยะให้ได้ระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริง ในกรณีตำนานของบิทคอย์นนั้นคือบิทคอย์นถูกสร้างขึ้นมาเพราะผู้สร้างหมดศรัทธากับสกุลเงินทั่วไปที่อยู่ใต้อำนาจของนักการเมืองและธนาคารกลาง และอยากที่จะมีสกุลเงินที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือ แต่วันนี้สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือราคาบิทคอย์นขึ้นลงอย่างแรงด้วยทัศนคติของนายอีลอน มัสค์คนเเดียว นั่นไม่ได้หมายความว่าบิทคอย์นไม่ดี แต่หมายความว่าโลกของคริปโตยังเยาว์วัยมาก” อดีต รมว.คลัง กล่าว
สำหรับนายกรณ์ จาติกวณิช ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อปี 2551 ได้รับรางวัลรัฐมนตรีคลังโลก และรัฐมนตรีคลังแห่งเอเชีย เมื่อปี 2553 เนื่องจากสามารถนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ได้เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก โดยรางวัลทั้งสองมอบโดยนิตยสารชั้นนำของประเทศอังกฤษ The Banker ในกลุ่ม Financial Times ที่ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1926 โดยนายกรณ์ เป็นรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติทั้งสองนี้