กอนช. ประเมินสถานการณ์ฝนล่วงหน้า เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงท่วม-แล้ง

กอนช. ชี้ฝนยังตกหนักถึงสิ้นเดือนนี้ ก่อนร่องมรสุมจะอ่อนกำลังลง คาดปีนี้มีฝนมากกว่าปีก่อน โดยจะมีฝนตกชุกและ
มีพื้นที่เสี่ยงท่วมมากที่สุดช่วง ส.ค.-ก.ย. ย้ำแผนจัดการน้ำอยู่ในเกณฑ์เพื่อป้องกันผลกระทบ พร้อมจับตาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยา เร่งหาแนวทางจัดสรรน้ำไม่ให้กระทบน้ำอุปโภค-บริโภค

วันที่ 28 พ.ค. 64 นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. ครั้งที่ 5/2564 ว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2564 เป็นไปอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์และ
มีประสิทธิภาพสูงสุด คณะทำงานฯ จึงได้มีการประชุมเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำ
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงานฯ ได้ร่วมกันคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศได้อย่างทันท่วงที โดยจากการรายงานสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า ในช่วงวันที่ 28-30 พ.ค. 64 ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 31 พ.ค. – 3 มิ.ย. 64 ร่องมรสุมจะมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่จะยังมีฝนตกหนักได้ในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักในภาคตะวันออกและภาคกลางมีระดับน้ำปานกลางถึงระดับน้ำมาก ส่วนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปัจจุบันยังมีระดับน้ำน้อยถึงระดับน้ำปานกลาง กับมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณคลองชี ต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง กอนช. จะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“สำหรับฤดูฝนในปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้ว และมากกว่าค่าปกติ 5-10% ซึ่งฝนจะตกชุกหนาแน่นในช่วงสิงหาคม-กันยายน เนื่องจากจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 2-3 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่ง กนอช. โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตาม ประเมินคาดการณ์
เพื่อทบทวนพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยตลอดฤดูฝนนี้เป็นรายเดือน ตั้งแต่ พฤษภาคม-ตุลาคม ปี 2564 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก และต้องบริหารจัดการน้ำให้อยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้มีช่องว่างเพียงพอสำหรับรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ พร้อมกับมีการรับมือกับสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝนอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์จริงล่วงหน้า โดยจะมีการประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง กอนช. และศูนย์บรรเทาภัย 7 เครือข่ายหลักจากกระทรวงเกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผลกระทบได้อย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งรวมถึงพื้นที่เสี่ยงบางแห่ง
ที่อาจจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำจากฝนตกน้อยในบางช่วงเวลาเช่นกัน” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว

นายสำเริง เผยต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบันพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยา โดยในปัจจุบันปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีจำนวนไม่มากนัก คือมีเพียงประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลที่มีปริมาณน้ำเพียง
709 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 33% และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-27 พ.ค. 64) มีน้ำไหลเข้าเพียง 3 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น อีกทั้งขณะนี้ในลุ่มเจ้าพระยา มีเกษตรกรเพาะปลูกไปแล้วถึงกว่า 3 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 40% จากแผนทั้งหมด จึงคาดว่าในช่วงที่มี
ฝนน้อยความต้องการใช้น้ำในส่วนนี้จะเพิ่มมากขึ้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินสถานการณ์ในกรณี
น้ำน้อย พิจารณาปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นรายพื้นที่ และหาแนวทางในการบริหารจัดการและจัดสรรน้ำเพื่อไม่ให้กระทบต่อน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก.