สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 พ.ค. 64

  • มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้
  • แม่น้ำสายหลัก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีน้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มลดลง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีน้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มทรงตัว สำหรับแม่น้ำโขง น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มทรงตัว
  • ปริมาณน้ำใช้การ แหล่งน้ำทุกขนาด 38,108 ล้าน ลบ.ม. (46%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,373 ล้าน ลบ.ม. (47%) เฝ้าระวังน้ำน้อย จำนวน 8 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 2 แห่ง (อ่างฯลำตะคอง และอ่างฯหนองปลาไหล)
  • คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวังน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ค่าความเค็ม อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน บริเวณปากแม่น้ำ
  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขานรับมาตรการ กอนช. ป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้ง
    กอนช. ติดตามหน่วยงานดำเนินการ ตาม 10 มาตรการรับมือ ฤดูฝน ปี 2564 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ ดังนี้
    • เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ กฟผ. เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน โดยจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ (Dynamic Operation Curve) ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของ กฟผ. จำนวน 12 แห่ง
    • จัดทำแผนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงปริมาณน้ำเกินความจุ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนบางลาง โดยติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อทบทวนและปรับแผนการระบายน้ำให้เหมาะสมตลอดช่วงฤดูฝน
    • ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน อาคารชลศาสตร์ ประตูระบายน้ำและสถานีโทรมาตร ให้มีความพร้อมต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ