กรมชลฯจัดทัพคน เขื่อน เครื่องจักร ช่วย ปชช. ป้องอุทกภัย
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมความพร้อมรับน้ำในฤดูฝนตามแผนบริหารจัดการน้ำที่ได้วางกันไว้ภายหลังที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้ระบุถึงพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในปี 2564 โดย กรมชลประทานได้วางแนวบริหารน้ำ 2 แนวทางประกอบด้วย 1. การระบายน้ำ จะต้องบริหารแบบไดนามิก คือ การระบายน้ำออกให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างฯและความสามารถในการเก็บกักในแต่ละช่วงเวลา หลักๆให้เน้นเก็บน้ำฝนสำรองไว้เพื่อฤดูแล้งในรอบหน้าโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ รวมถึงบริหารจัดการปริมาณน้ำให้สอดคล้องกับเกณฑ์บริหารการเก็บกักซึ่งล่าสุดกรมชลฯได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)ปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำครบทุกเขื่อนแล้ว และ 2. การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งวัชพืช และโครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีการเตรียมพื้นที่ให้พร้อมระบายน้ำ กรณีจุดไหนที่คาดการณ์ว่าฝนน้อยให้ใช้ระบบบริหารหรือประตูระบายน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในภาวะฝนทิ้งช่วง
“ทั้งนี้กรมชลประทานมีการประชุมทุกสัปดาห์ผ่านระบบสื่อสารทางไกลเพื่อติดตามการตรียมความพร้อมทุกพื้นที่ ทั้งคน และเครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงการติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เน้นย้ำว่ากรณีพื้นที่ใดที่เสี่ยงภัย เครื่องจักร เครื่องมือ ของกรมต้องเข้าถึงพื้นที่ก่อนเกิดเหตุเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด และช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด นอกจากนั้นให้วางแผนประชาสัมพันธ์ในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยจะใช้ระบบโทรมาตรของกรมที่กระจายทั่วประเทศคาดการณ์มวลน้ำและระยะเวลาที่น้ำจะเดินทางถึงพื้นที่ต่างๆเพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนมีเวลาเตรียมรับมือ” นายประพิศกล่าว
สำหรับในภาคเหนือที่มีน้ำท่วมบ่อยครั้งในลุ่มน้ำยม กรมชลประทานมีการวางแผนในการจัดจราจรน้ำ และใช้แก้มลิงบางระกำในการรับน้ำหลาก ซึ่งสามารถรับน้ำหลากได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ ม ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดน้ำท่วมของ จ พิษณุ โลก และ สุโขทัย ปัจจุบันพื้นที่ทุ่งบางระกำ 265000 ไร่ ที่กรมชลประทานจัดระบบการปลูกพืช ได้มีการเพาะปลูกแล้วเสร็จ จะสามารถเก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนสิงหาคม ก่อนฤดูน้ำหลาก ทำให้สามารถใช้พื้นที่รับน้ำหลากได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สำหรับพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างท้าย จ.ชัยนาทลงมา มีพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำที่เคยใช้รับน้ำหลาก จำนวน 12 ทุ่ง เนื้อที่ที่ประมาณ 1.15 ล้านไร่ แต่ในปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนปลายฤดูแล้งที่ผ่านมามีน้อย จึงไม่สามารถส่งน้ำเพื่อปรับระบบการเพาะปลูกให้ทำนาปีได้เร็ว ทำให้เกษตรกรต้องทำนาปีโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ตามประกาศการเข้าฤดูฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ประกาศเข้าฤดูฝนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 แต่ทั้งนี้กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนและน้ำในแต่ละพื้นที่และประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกษตรกร เพื่อตัดสินใจเริ่มการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่ ซึ่งถ้าเกษตรกรสามารถปลูกได้ในต้นฤดูฝนก็จะสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรกรได้ และกรณีน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมากจะสามารถใช้ 12 ทุ่ง รับน้ำหลากในช่วงต.ค. หรือพ.ย. ได้เพื่อป้องอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ขณะที่พื้นที่จังหวัดแนวตะวันตก เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี หลายโครงการชลประทานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ โครงการบรรเทาอุทกภัยบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรี ซึ่งจะสามารถใช้ตัดยอดน้ำที่จะเข้าพื้นที่เศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้พิจารณาปรับการทำงานไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้น้ำลงทะเลได้เร็วที่สุด